Pent Up Demand คือ ความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังจากความต้องการซื้อถูกจำกัดเอาไว้เพราะผู้บริโภคต้องหยุดหรือลดการจับจ่ายใช้สอยด้วยเหตุผลบางประการ เมื่อผู้บริโภคไม่จำเป็นที่จะต้องหยุดหรือลดการใช้จ่ายและกลับมาใช้จ่ายตามปกติ Pent-up Demand จึงทำให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นมากผิดปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
ในอีกความหมายหนึ่ง Pent Up Demand เป็นความต้องการซื้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่ก่อนหน้านี้ความต้องการซื้ออยู่ในระดับต่ำด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถซื้อได้
คำว่า Pent-up Demand เป็นคำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการอธิบายเหตุการณ์ที่ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ผู้บริโภคหยุดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงก่อนหน้าและได้กดความต้องการซื้อเอาไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปการหยุดจับจ่ายใช้สอยที่ทำให้เกิด Pent up Demand มักเป็นผลต่อเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถอถอย (Recession) ไม่ว่าจากวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเงิน หรือวิกฤตจากโรคระบาดเหมือนช่วงโควิดในช่วงปี 2019 ถึงปี 2021
เนื่องจากระหว่างที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องลดการใช้จ่ายหรือชะลอการใช้จ่ายลง จากการที่รู้สึกถึงความที่ไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจหรือจากการที่พวกเขาถูกเลิกจ้าง (หรือมีแนวโน้มที่จะถูกเลิกจ้าง) ผู้บริโภคเหล่านี้จึงชะลอการใช้จ่ายลง (โดยเฉพาะการใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือย) ไปจนกว่าจะรู้สึกว่าทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติหรือถึงจุดที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่ากลับมามีรายได้เป็นปกติอีกครั้ง
กลไกของ Pent-up Demand
หากจะสรุปว่า Pent-up Demand เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? สามารถสรุปลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้
- เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
- ประชาชนมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี ควรลดการใช้จ่าย (โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย)
- ประชาชนลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น
- เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ประชาชนเริ่มกล้าที่จะใช้จ่าย และกลับมาใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย
- เมื่อรู้สึกว่าเศรษฐกิจกลับเป็นปกติ ผู้บริโภคจะกล้าใช้จ่ายมากขึ้นอีกจนการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปกติ
- Pent-up Demand ลดลง และตลาดเข้าสู่ภาวะปกติ
ตัวอย่างของ Pent Up Demand ที่ง่ายที่สุดคือหลายสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด อย่างธุรกิจโรงแรมในช่วงที่กลับมาฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดระลอกแรกเริ่มกลับมาดีขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวธุรกิจโรงแรมเริ่มกลับมาฟื้นตัวมีกำไรอีกครั้ง (แม้จะไม่เท่าช่วงที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาก่อนจะเกิดวิกฤต)
จากตัวอย่าง Pent-up Demand ในกรณีนี้เป็นผลมาจากการที่คนเริ่มกล้ากลับมาเที่ยวอีกครั้งหลังจากไม่สามารถออกมาเที่ยวได้เป็นเวลานาน เพราะมองว่าเหตุการณ์ภเริ่มกลับมาเป็นปกติ ทั้งหมดทำให้ผู้บริโภคกลับมาท่องเที่ยวกันมากขึ้น จนความต้องการเข้าพักโรงแรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่อยู่ในระดับต่ำมานาน ณ ขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระมัดระวังสำหรับผู้ประกอบการคือ Pent Up Demand เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อปริมาณความต้องการซื้อลดลง เนื่องจากอุปสงค์หรือความต้องการซื้อเกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคหยุดการใช้จ่ายไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วกลับมาใช้จ่าย เมื่อผู้บริโภคใช้จ่ายจนถึงจุดที่พอใจ การใช้จ่ายหลังจากนั้นก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ