Pent Up Demand คือ ความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่ผู้บริโภคต้องการจับจ่ายใช้สอยหลังจากที่ผู้บริโภคหยุดหรือลดการใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้าจากเหตุการณ์บางอย่าง การที่ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยจึงทำให้เกิด Pent Up Demand ที่การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากจนผิดปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
คำว่า Pent-up Demand เป็นคำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการอธิบายเหตุการณ์ที่ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้หยุดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงก่อนหน้า โดยทั่วไปการหยุดจับจ่ายใช้สอยที่ทำให้เกิด Pent up Demand คือผลที่ต่อเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถอถอย (Recession) ไม่ว่าจากวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเงิน หรือวิกฤตจากโรคระบาดเหมือนช่วงโควิดในช่วงปี 2019 ถึงปี 2021
เนื่องจาก ระหว่างที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ผู้บริโภคจึงมีความรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องลดการใช้จ่ายหรือชะลอการใช้จ่ายไปก่อนจนกว่าจะรู้สึกว่าทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ (โดยเฉพาะกับสินค้าฟุ่มเฟือย) หรือถึงจุดที่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวที่ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่ากลับมามีรายได้เป็นปกติอีกครั้ง
ถ้าหากจะสรุปว่า Pent-up Demand เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? สามารถสรุปลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้
- เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
- ประชาชนมองว่าเศรษฐกิจไม่ดีควรลดการใช้จ่าย (โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย)
- ประชาชนลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น
- เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้น ประชาชนเริ่มกล้าที่จะใช้จ่าย และกลับมาใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย
- เมื่รู้สึกว่าเศรษฐกิจกลับเป็นปกติ ผู้บริโภคจะกล้าใช้จ่ายมากขึ้นอีกจนการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปกติ
- Pent-up Demand ลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติ
ตัวอย่าง Pent Up Demand ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงโควิดเป็น Pent Up Demand ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโรงแรมในช่วงที่กลับมาฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดระลอกแรกเริ่มดีขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวธุรกิจโรงแรมเริ่มกลับมาฟื้นตัวมีกำไรอีกครั้ง (แม้จะไม่เท่าช่วงที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ)
Pent-up Demand ในกรณีดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่คนเริ่มกล้ากลับมาเที่ยวอีกครั้งหลังจากไม่สามารถออกมาเที่ยวได้เป็นเวลานาน เพราะมองว่าเหตุการณ์ภเริ่มกลับมาเป็นปกติ ทั้งหมดทำให้ผู้บริโภคกลับมาท่องเที่ยวกันมากขึ้น จนความต้องการเข้าพักโรงแรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม Pent-up Demand คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อปริมาณความต้องการซื้อลดลง เนื่องจากอุปสงค์หรือความต้องการซื้อเกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคหยุดการใช้จ่ายไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วกลับมาใช้จ่าย เมื่อผู้บริโภคใช้จ่ายจนถึงจุดที่พอใจการใช้จ่ายหลังจากนั้นก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ