SWOT คือการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันจากปัจจัยภายในและภายนอกของสิ่งที่กำลังวิเคราะห์ ประกอบด้วย จุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) และภัยคุกคาม (Threat)
การวิเคราะห์ SWOT มีเป้าหมายในการทำความเข้าใจความสามารถและข้อจำกัดในการแข่งขัน และปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในการแข่งขัน เราจึงมักพบการใช้ SWOT เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ต่อยอดในการวิเคราะห์อื่น ๆ อย่างการสร้างกลยุทธ์ในการแข่งขันและการวางแผนธุรกิจ
เนื่องจาก SWOT จะทำให้คุณรู้ถึงความสามารถและข้อจำกัดต่อไปนี้
- Strength จุดแข็งที่เป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน
- Weakness จุดอ่อนที่เป็นความเสียเปรียบที่มี
- Opportunity โอกาสที่ส่งผลดีต่อการแข่งขัน
- Threat ภัยคุกคามที่คอยขัดขวางและกลายเป็นข้อจำกัดในการแข่งขัน
Strengths และ Weaknesses
Strengths และ Weaknesses คือ การวิเคราะห์ SWOT ในส่วนปัจจัยภายในที่สามารถควบคุมได้เพื่อนำมาใช้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และเพื่อการค้นหาจุดอ่อนที่ผู้วิเคราะห์ต้องแก้ไข
Strength เป็นการวิเคราะห์จุดแข็งที่เป็น “จุดเด่น” หรือ “ข้อได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบคู่แข่ง” และเป็นปัจจัยที่เราสามารถควบคุมหรือปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้
Weakness เป็นการวิเคราะห์จุดอ่อนที่เป็น “ข้อด้อย” หรือ “ข้อเสียเปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบคู่แข่ง” และสามารถควบคุมหรือปรับปรุงข้อด้อยเหล่านี้ได้
วิธีที่ง่ายที่สุดในการวิเคราะห์ SWOT ในส่วนของ Strength และ Weakness จึงสามารถทำได้ด้วยการที่คุณลองตอบคำถามต่อไปนี้ในมุมมองของสิ่งที่กำลังวิเคราะห์
- อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณได้เปรียบอีกฝ่ายในการแข่งขัน?
- อะไรคือสิ่งที่คู่แข่งกลัวหรือพยายามเอาชนะคุณ?
- ความแตกต่างของสินค้า บริการ หรือสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบกับคู่แข่งของคุณดีกว่าหรือแย่กว่า?
- ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ของคุณเมื่อเทียบกับคู่แข่งเป็นอย่างไร?
เมื่อคุณถามคำถามพวกนี้แล้วได้คำตอบออกมาเป็นด้านบวกต่อสิ่งที่กำลังวิเคราะห์นั่นหมายถึงสิ่งนั้นเป็น “จุดแข็ง” แต่ถ้าหากคำตอบที่คุณได้เป็นด้านลบปัจจัยดังกล่าวจะถือเป็น “จุดอ่อน”
Opportunities และ Threats
Opportunities และ Threats คือ การวิเคราะห์ SWOT ในส่วนของปัจจัยภายนอกซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และมักจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาผ่านไปในระยะเวลาหนึ่ง
Opportunity เป็นปัจจัยภายนอกที่มีลักษณะเป็นโอกาสที่ส่งผลดีต่อสิ่งที่กำลังวิเคราะห์ SWOT ซึ่งช่วยให้สิ่งที่เรากำลังวิเคราะห์ได้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น
Threat เป็นภัยคุกคามจากภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ซึ่งนำไปสู่อุปสรรคของสิ่งที่กำลังวิเคราะห์ และด้วยความที่เป็นปัจจัยภายนอกทำให้เราทำได้เพียงการรอให้ภัยคุกคามนั้นหายไปเองหรือหลีกเลี่ยงด้วยกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงต่างๆ
โดยทั่วไปปัจจัยภายนอกที่คุณจะพบว่ากลายเป็นโอกาสและภัยคุกคามใน SWOT จึงมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้
- การเมือง การออกหรือยกกเลิกนโยบายที่มีผลต่อสิ่งที่กำลังวิเคราะห์
- ประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เช่น ค่าแรง ต้นทุนการผลิต กำลังซื้อ การจ้างงาน ดอกเบี้ย
- เทคโนโลยีที่ส่งผลต่อความสะดวกหรือความต้องการที่เปลี่ยนไป
- สังคม เทรนด์ วัฒนธรรม ค่านิยม ไลฟ์สไตล์ ความสนใจ ที่ส่งผลต่อผู้วิเคราะห์ โดยเฉพาะในกรณีของธุรกิจและการตลาด
- กฎหมายและข้อบังคับที่มากขึ้น ลดลง หรือเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์
- ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผู้วิเคราะห์ เช่น สภาพอากาศ ฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ภูมิประเทศ ภัยพิบัติ
- ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น คู่แข่ง คู่ค้า ซัพพลายเออร์ สินค้าทดแทน
เมื่อคุณพิจารณาปัจจัยภายนอกเหล่านี้แล้วพบว่าปัจจัยเหล่านี้เกิดประโยชน์กับคุณหรือสิ่งที่คุณกำลังวิเคราะห์นั่นหมายความว่าสิ่งนั้นคือ “โอกาส” แต่ถ้าหากปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความยากลำบากขึ้นนั่นหมายความว่าสิ่งนั้นคือ “ภัยคุกคาม”
ประเด็นสำคัญที่คุณต้องทราบและไม่ลืม คือ ปัจจัยภายนอกเหล่านี้นอกจากจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจัยเหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยนได้เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งหนึ่งที่เคยเป็นโอกาสวันหนึ่งอาจไม่ใช่โอกาสหรือแม้แต่กลายเป็นอุปสรรคได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะกลับมาวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอไม่ว่าคุณจะใช้เครื่องมือวิเคราะห์อะไรก็ตาม
การทำ SWOT Analysis
SWOT Analysis คือการวิเคราะห์ SWOT ของบางสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น องค์กรในภาพรวม หน่วยธุรกิจ ตลอดจนผลิตภัณฑ์หนึ่งของธุรกิจ หรือแม้แต่การประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ตัวคุณเองในสถานการณ์หนึ่ง
โดยในการวิเคราะห์ SWOT คุณอาจทำได้ด้วยการวิเคราะห์คร่าว ๆ หรือแม้แต่การวิเคราะห์อย่างละเอียดด้วยการเปรียบเทียบข้อมูลเชิงลึก แต่สิ่งสำคัญของการทำ SWOT Analysis คือการวิเคราะห์อย่างเป็นกลางปราศจากอคติในแต่ละฝ่ายทั้งเชิงบวกและเชิงลบ
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามคือการกลับมาวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 1 เดือน 1 ไตรมาส 1 ปี หรือหลายปี เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป