สภาพคล่องทางการเงิน (Financial Liquidity) ของธุรกิจ

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

สภาพคล่องทางการเงิน คือ Financial Liquidity

สภาพคล่องทางการเงิน คือ ความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสด การที่ธุรกิจหรือบุคคลมีสภาพคล่องทางการเงินสูงจึงหมายถึงการธุรกิจหรือบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ง่ายและรวดเร็วอยู่เป็นจำนวนมาก

โดย “สภาพคล่อง (Liquidity) จะหมายถึง ความสามารถของสินทรัพย์ในการเปลี่ยนสภาพเป็นเงินสด ดังนั้นสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายและเร็วจะถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่สภาพคล่องสูง ซึ่งในทางบัญชีได้ระบุว่าสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงคือสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี เรียกว่า สินทรัพย์หมุนเวียน ขณะที่สินทรัพย์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ใน 1 ปีจะนับว่าเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำ เรียกว่า สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

ทั้งนี้ ความยากง่ายของสินทรัพย์ในการแปลงจากสินทรัพย์ไปสู่เงินสดขึ้นอยู่กับเงื่อนไขใด ๆ ก็ตามที่ทำให้สินทรัพย์นั้นขายออกได้ช้าหรือเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ราคา ความต้องการของตลาดขณะนั้น และการนำสินทรัพย์ไปใช้ประโยชน์

ตัวอย่างของสินทรัพย์สภาพคล่องสูง ได้แก่ เงินสด เงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำระยะสั้น

ทั้งหมดจะเห็นว่า หากเราบอกว่าคนรวยคือผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย คุณอาจจะสังเกตเห็นว่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว คนรวยคนนั้นอาจเป็นคนที่ไม่มีสภาพคล่องทางการเงินเลยก็ได้หากสินทรัพย์ที่เขามีโดยส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดในระยะเวลาสั้น ๆ ได้ยาก

สภาพคล่องทางการเงินสำคัญอย่างไร

ความสำคัญของสภาพคล่องทางการเงิน (Financial Liquidity) คือ ความสามารถในการที่จะมีเงินสดพอสำหรับใช้เมื่อจำเป็นต้องใช้เงินสด

ในชีวิตประจำวันเราจะเห็นว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ธุรกิจหรือบุคคลมีเหตุให้ต้องใช้เงิน หากพวกเขาไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน ณ ขณะนั้น พวกเขาจะพบกับ 4 ทางเลือกคือ

  1. ล้มละลายเพราะไม่มีเงินจ่ายเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นปลายทางของปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน (ที่เราจะไม่พูดถึงต่อไป)
  2. กู้เงินจากสถาบันการเงิน ที่มีภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืม
  3. ขายสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำที่มี โดยบางครั้งอาจจำเป็นที่จะต้องขายขาดทุนเพื่อเร่งการได้มาซึ่งเงินสด
  4. ไม่ทำอะไร ในกรณีที่เหตุผลที่ต้องใช้เงินไม่ใช่การจ่ายหนี้

จาก 4 ทางเลือกที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าความสำคัญที่แท้จริงของสภาพคล่องทางการเงินคือเรื่องของ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Costs)” ที่เกิดขึ้นจากการที่คุณต้องกู้เงินทั้งที่จริง ๆ แล้วคุณไม่ใช่ไม่มีเงิน หรือจากการขายสินทรัพย์ออกไปในราคาต่ำกว่าตลาดเพราะต้องรีบใช้เงิน หรือแม้กระทั่งต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้ทำอะไรเพราะไม่มีเงินสดอยู่ในมือซึ่งอาจให้ผลตอบแทน

จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งธุรกิจและบุคคลธรรมดาทั่วไปจะรักษาสภาพคล่องทางการเงินเอาไว้ส่วนหนึ่งเสมอหากเป็นไปได้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

การวัดสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ

ในการวิเคราะห์งบการเงินคุณจะสามารถวัดสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจได้ด้วยหลายอัตราส่วนทางการเงิน ซึ่งแต่ละอัตราส่วนจะมีความสามารถในการวัดสภาพคล่องของธุรกิจที่แตกต่างกัน ดังนี้

Current Ratio และ Qucik Ratio ในการวัดสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว ว่ามีสัดส่วนมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับหนี้สินระยะสั้นที่ธุรกิจจะต้องรีบจ่ายภายใน 1 ปี

Debt Service Ratio (DSR) วัดสัดส่วนภาระหนี้สินต่อรายได้ว่าในแต่ละเดือนรายได้ที่ได้มาต้องใช้ไปกับภาระหนี้สินเท่าไหร่

Account Payable Turnover และ Average Payment Period สำหรับการวัดจำนวนครั้งที่ธุรกิจต้องจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้การค้าและจำนวนวันเฉลี่ยที่ธุรกิจได้ Credit Term ซึ่งสะท้อนถึงเงินสดที่เหลืออยู่ในมือของธุรกิจ

เกี่ยวกับ:

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: