การประหยัดต่อขนาด หรือ Economies of Scale มักจะเป็นหนึ่งในความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitve Advantage) ที่มักถูกหยิบยกมาอ้างถึง แต่รู้หรือไม่ว่า Economies of Scale เกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรทำให้การที่ยิ่งผลิตมากขึ้นกลับทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
และจริงหรือไม่ที่ยิ่งผลิตมากต้นทุนต่อหน่วยจะยิ่งลดลงเสมอไป? อย่างที่หลายคนท่องจำกันมาอย่างยาวนาน เมื่อกล่าวถึง Economies of Scale
Economies of Scale คืออะไร?
Economies of Scale คือ การประหยัดต่อขนาด ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าจำนวนมากแล้วทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการผลิตจำนวนมากทำให้ผู้ผลิตสามารถใช้ต้นทุนคงที่ (Fixed Costs) ได้คุ้มค่ามากขึ้นจากการที่ต้นทุนคงที่ต่อการผลิตสินค้าหนึ่งชิ้นลดลง
แนวคิด Economies of Scale เป็นแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการผลิตแบบ Mass Production ที่เป็นการผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ ที่มุ่งเน้นไปที่การขายสินค้าจำนวนมหาศาลเข้าสู่ตลาดเพื่อหากำไรจากต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำแทนที่จะขายสินค้าด้วยกำไรต่อหน่วยที่สูง ซึ่งเรามักพบได้กับการผลิตสินค้ามอุปโภคบริโภคทั่วไปที่เรียกว่า FMCG (Fast Moving Consumer Goods) อย่างเช่น สบู่ ยาสีฟัน ขนม อาหาร และเครื่องดื่ม ที่มีความต้องการซื้ออย่างมหาศาลในตลาดรองรับ
ทั้งนี้ การผลิตครั้งมาก ๆ จนถึงจุดที่ได้การประหยัดต่อขนาดหรือ Economies of Scale (EOS) ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นให้ต่ำลงได้อีกหลายวิธี ตัวอย่างเช่น ประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง, ประหยัดต้นทุนในการกู้ยืม, ประหยัดต้นทุนในการโฆษณา, และประหยัดต้นทุนคงที่จากการที่ใช้ต้นทุนคงที่ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
- ประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง จากการผลิตครั้งละมาก ๆ ทำให้การขนส่งต่อครั้งคุ้มค่ามากขึ้น
- ประหยัดต้นทุนทางการเงิน การผลิตได้ครั้งละจำนวนมากใช้เงินทุนที่สูง ในกรณีที่ต้องกู้เงินการกู้เงินจำนวนมากทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง
- ใช้ต้นทุนคงที่ได้คุ้มค่าขึ้น เช่น จากการผลิตได้ในระดับที่เต็มกำลังการผลิตส่งผลให้ใช้ต้นทุนในการเดินเครื่องจักรคุ้มค่ายิ่งขึ้น
- ต้นทุนโฆษณาและการส่งเสริมการขายลดลง เมื่อผลิตสินค้ามากขึ้น ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยในการโฆษณาต่อสินค้า 1 ชิ้นลดลง
หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้น Economies of Scale ก็คือการที่ “ยิ่งผลิตมาก ยิ่งทำให้ต้นทุนต่อการผลิตสินค้าต่อหน่วยลดลง”
ตัวอย่าง Economies of Scale
สมมติว่า บริษัทผลิตเสื้อมีต้นทุนการผลิต 2 ส่วน ได้แก่ ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) คือต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อผลิตมากขึ้นต่อจำนวนเสื้อที่ผลิต และต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือต้นทุนที่ไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อยแค่ไหนหรือไม่ผลิตเลยต้นทุนก็ยังเกิดขึ้นเท่าเดิม
โดยเราจะสมมติว่าเสื้อมีต้นทุนผันแปรในการผลิตตัวละ 50 บาท และบริษัทมีต้นทุนคงที่เป็นค่าเช่าโรงงาน (และค่าใช้จ่ายคงที่อื่นๆ) เดือนละ 300,000 บาท
กรณีที่ 1 ถ้าบริษัทผลิตเสื้อ 10,000 ตัว บริษัทจะมีต้นทุน คือ ต้นทุนคงที่ 300,000 บาท และต้นทุนผันแปรของการผลิตเสื้อ 10,000 ตัว x 50 บาท = 500,000 บาท ในกรณีนี้ต้นทุนเฉลี่ยของการผลิตเสื้อคือ (500,000 + 300,000) ÷ 10,000 = 80 บาท/เสื้อหนึ่งตัว
กรณีที่ 2 ถ้าบริษัทผลิตเสื้อ 20,000 ตัว บริษัทจะมีต้นทุน คือ ต้นทุนคงที่ 300,000 บาท และต้นทุนผันแปรของการผลิตเสื้อ 20,000 ตัว x 50 บาท = 1,000,000 บาท ในกรณีที่ 2 นี้ต้นทุนเฉลี่ยของการผลิตเสื้อจะเท่ากับ (1,000,000 + 300,000) ÷ 20,000 = 65 บาท/เสื้อหนึ่งตัว
จากตัวอย่างจะเห็นว่าเมื่อผลิตเสื้อมากขึ้นบริษัทผลิตเสื้อก็จะยิ่งได้ Economies of Scale ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเสื้อหนึ่งตัวลดลงจาก 80 บาทเหลือ 65 บาทต่อการผลิตเสื้อต่อตัว
กราฟ Economies of Scale (EOS)
Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาดสามารถเขียนเป็นกราฟเปรียบเทียบต้นทุนกับกำลังการผลิตสินค้าได้ในลักษณะของกราฟด้านล่าง โดยที่แกนตั้งคือต้นทุนในการผลิตและแกนนอนคือจำนวนสินค้าที่ผลิตออกมา ในขณะที่ Q1 คือจำนวนที่ผลิตเดิม ส่วน C1 คือต้นทุนการผลิตเดิม และ Q2 คือจำนวนที่ผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วน C2 คือต้นทุนการผลิตหลังเพิ่มจำนวนการผลิต
ซึ่งเส้นโค้งเรียกว่าเส้น EOS หรือ เส้น Economies of Scale ที่แสดงการประหยัดต่อขนาด
เมื่อเทียบตัวอย่างกับกราฟจะเห็นว่าเมื่อเพิ่มจำนวนการผลิตจาก Q1 ไปยัง Q2 (ผลิตเพิ่มขึ้นจาก 10,000 ชิ้นเป็น 20,000 ชิ้น) จะทำให้ต้นทุนลดลงจาก C1 เป็น C2 (ต้นทุนลดลงจาก 80 บาท เหลือ 65 บาท)
Diseconomies of Scale
Diseconomies of Scale คือ การไม่ประหยัดต่อขนาดที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าจำนวนมากแต่ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยไม่ลดลงอย่างที่ควรจะเป็นดังที่เราเห็นจากตัวอย่างด้านบน ซึ่ง Diseconomies of Scale เป็นด้านตรงข้ามของ Economies of Scale
อย่างไรก็ตาม Diseconomies of Scale เป็นสิ่งคนทั่วไปมักอาจไม่คุ้นเคยและอาจเกิดคำถามว่าการผลิตครั้งละมาก ๆ จะไม่คุ้มค่าขึ้นได้อย่างไร ก่อนอื่นลองกลับมาดูที่กราฟ Economies of Scale อีกครั้ง
เหตุผลที่เส้น EOS หรือเส้น Economies of Scale เป็นเส้นโค้งหมายความว่าในท้ายที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น (Q เพิ่มขึ้น) จะทำให้ต้นทุนกลับมาเพิ่มขึ้น (C เพิ่มขึ้น) แทนที่จะลดลงตามที่หลายคนเข้าใจตามแนวคิด Economies of Scale ซึ่งเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า Diseconomies of Scale หรือการไม่ประหยัดต่อขนาด
จากตัวอย่างที่เห็นด้านบนประกอบไปด้วยเพียงไม่กี่ปัจจัย แต่ในความเป็นจริงในการผลิตมีต้นทุนและข้อจำกัดที่มากกว่านั้น เพราะถ้าหากคิดแบบง่าย ๆ โดยมองข้ามข้อเท็จจริงถ้าเราเพิ่มจำนวนการผลิตเสื้อเป็น 1 ล้านตัว ต้นทุนการผลิตเสื้อจะเหลือเพียง ((1,000,000 x 50) + 300,000) ÷ 1,000,000 = 50.3 บาทต่อเสื้อ 1 ตัว
ซึ่งในความเป็นจริงบริษัทที่มีต้นทุนคงที่ซึ่งเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าโรงงาน และต้นทุนคงที่อื่น ๆ เพียง 300,000 บาท อาจมีความสามารถไม่มากพอที่จะผลิตเสื้อ 1 ล้านตัว ซึ่งถ้าบริษัทต้องการจะผลิตเสื้อมากขนาดนั้นก็อาจจะต้องจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น เช่าโรงงานที่กว้างขึ้น และเครื่องจักรมากขึ้น (ทำให้มีต้นทุนค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น)
ดังนั้น การเพิ่มจำนวนการผลิตเสื้อไปที่ 1 ล้านตัวแทนที่จะทำให้ต้นทุนเหลือ 50.3 บาท กลับทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพราะธุรกิจต้องขยับขยายกิจการจนต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้น และเมื่อต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะทำให้การผลิตเสื้อมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตาม ถ้าหากว่าเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นแต่ไม่ได้ใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เต็มที่ ซึ่งเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Diseconomies of Scale
นอกจากนั้น หากเปรียบเทียบกับโลกแห่งความเป็นจริงที่ Economies of Scale ใช้กับการผลิตแบบ Mass Production จะเห็นว่าการผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ ส่งผลให้ผู้ผลิตมีภาระในการจัดเก็บสินค้าและมีโอกาสที่สินค้าจะกลายเป็นสินค้าตกรุ่นที่ขายไม่ออก ดังนั้นแล้วถ้าหากการผลิตแบบ Mass Production ดังกล่าวมีต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าต้นทุนต่อหน่วยที่รับได้หลังจากรวมต้นทุนในการจัดเก็บและโอกาสในการกลายเป็นสินค้าตกรุ่นเข้าไปแล้ว นั่นก็คือ Diseconomies of Scale นั่นเอง