• Post category:Economics

Economies of Scale คืออะไร?

Economies of Scale คือ การประหยัดต่อขนาดที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าจำนวนมากแล้วทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตจำนวนมากทำให้ผู้ผลิตสามารถใช้ต้นทุนคงที่ (Fixed) ได้คุ้มค่ามากขึ้นจากการที่ต้นทุนคงที่ต่อการผลิตสินค้าหนึ่งชิ้นลดลง

นอกจากนี้ การผลิตครั้งมาก ๆ จนถึงจุดที่ได้การประหยัดต่อขนาดหรือ Economies of Scale (EOS) ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นให้ต่ำลงได้อีกหลายวิธี ตัวอย่างเช่น ประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง, ประหยัดต้นทุนในการกู้ยืม, ประหยัดต้นทุนในการโฆษณา, และประหยัดต้นทุนคงที่จากการที่ใช้ต้นทุนคงที่ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น

  • ประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง จากการผลิตครั้งละมาก ๆ ทำให้การขนส่งคุ้มค่ามากขึ้น
  • ประหยัดต้นทุนทางการเงิน การผลิตได้ครั้งละจำนวนมากใช้เงินทุนที่สูง ในกรณีที่ต้องกู้เงินการกู้เงินจำนวนมากทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง
  • ใช้ต้นทุนคงที่ได้คุ้มค่าขึ้น เช่น จากการผลิตได้ในระดับที่เต็มกำลังการผลิตส่งผลให้ใช้ต้นทุนในการเดินเครื่องจักรคุ้มค่ายิ่งขึ้น
  • ต้นทุนโฆษณาและการส่งเสริมการขายลดลง เมื่อผลิตสินค้ามากขึ้น ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยในการโฆษณาต่อสินค้า 1 ชิ้นลดลง

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าผลิตสินค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ต้นทุนต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะเมื่อผลิตสินค้าถึงจำนวนหนึ่งผู้ผลิตสินค้าจะไม่ได้ Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาดอีกต่อไป และเข้าสู่ Diseconomies of Scale หรือการไม่ประหยัดต่อขนาดแทน

ตัวอย่าง Economies of Scale

สมมติว่า บริษัทผลิตเสื้อมีต้นทุนการผลิต 2 ส่วน ได้แก่ ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) คือต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อผลิตมากขึ้นต่อจำนวนเสื้อที่ผลิต และต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือต้นทุนที่ไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อยแค่ไหนหรือไม่ผลิตเลยต้นทุนก็ยังเกิดขึ้นเท่าเดิม

โดยเราจะสมมติว่าเสื้อมีต้นทุนผันแปรในการผลิตตัวละ 50 บาท และบริษัทมีต้นทุนคงที่เป็นค่าเช่าโรงงาน (และค่าใช้จ่ายคงที่อื่นๆ) เดือนละ 300,000 บาท

กรณีที่ 1 ถ้าบริษัทผลิตเสื้อ 10,000 ตัว บริษัทจะมีต้นทุน คือ ต้นทุนคงที่ 300,000 บาท และต้นทุนผันแปรของการผลิตเสื้อ 10,000 ตัว x 50 บาท = 500,000 บาท ในกรณีนี้ต้นทุนเฉลี่ยของการผลิตเสื้อคือ (500,000 + 300,000) ÷ 10,000 = 80 บาท/เสื้อหนึ่งตัว

กรณีที่ 2 ถ้าบริษัทผลิตเสื้อ 20,000 ตัว บริษัทจะมีต้นทุน คือ ต้นทุนคงที่ 300,000 บาท และต้นทุนผันแปรของการผลิตเสื้อ 20,000 ตัว x 50 บาท = 1,000,000 บาท ในกรณีที่ 2 นี้ต้นทุนเฉลี่ยของการผลิตเสื้อจะเท่ากับ (1,000,000 + 300,000) ÷ 20,000 = 65 บาท/เสื้อหนึ่งตัว

จากตัวอย่างจะเห็นว่าเมื่อผลิตเสื้อมากขึ้นบริษัทผลิตเสื้อก็จะยิ่งได้ Economies of Scale ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเสื้อหนึ่งตัวลดลงจาก 80 บาทเหลือ 65 บาทต่อการผลิตเสื้อต่อตัว

กราฟ Economies of Scale (EOS)

Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาดสามารถเขียนเป็นกราฟเปรียบเทียบต้นทุนกับกำลังการผลิตสินค้าได้ในลักษณะของกราฟด้านล่าง โดยที่แกนตั้งคือต้นทุนในการผลิตและแกนนอนคือจำนวนสินค้าที่ผลิตออกมา ในขณะที่ Q1 คือจำนวนที่ผลิตเดิม ส่วน C1 คือต้นทุนการผลิตเดิม และ Q2 คือจำนวนที่ผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วน C2 คือต้นทุนการผลิตหลังเพิ่มจำนวนการผลิต

ซึ่งเส้นโค้งเรียกว่าเส้น EOS หรือ เส้น Economies of Scale ที่แสดงการประหยัดต่อขนาด

Economies of Scale EoS Graph
กราฟ Economies of Scale (EoS)

เมื่อเทียบตัวอย่างกับกราฟจะเห็นว่าเมื่อเพิ่มจำนวนการผลิตจาก Q1 ไปยัง Q2 (ผลิตเพิ่มขึ้นจาก 10,000 ชิ้นเป็น 20,000 ชิ้น) จะทำให้ต้นทุนลดลงจาก C1 เป็น C2 (ต้นทุนลดลงจาก 80 บาท เหลือ 65 บาท)

Diseconomies of Scale

Diseconomies of Scale คือ การไม่ประหยัดต่อขนาดที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าจำนวนมากแต่ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยไม่ลดลงอย่างที่ควรจะเป็นดังที่เราเห็นในตัวอย่างด้านบน ซึ่ง Diseconomies of Scale คือด้านตรงข้ามของ Economies of Scale นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม Diseconomies of Scale เป็นสิ่งคนทั่วไปมักอาจไม่คุ้นเคยและอาจเกิดคำถามว่าการผลิตครั้งละมาก ๆ จะไม่คุ้มค่าขึ้นได้อย่างไร ก่อนอื่นลองกลับมาดูที่กราฟ Economies of Scale อีกครั้ง

Diseconomies of Scale DoS Graph
กราฟ Economies of Scale ที่แสดงถึง Diseconomies of Scale

เหตุผลที่เส้น EOS หรือเส้น Economies of Scale เป็นเส้นโค้งหมายความว่าในท้ายที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น (Q เพิ่มขึ้น) จะทำให้ต้นทุนกลับมาเพิ่มขึ้น (C เพิ่มขึ้น) แทนที่จะลดลงตามที่หลายคนเข้าใจตามแนวคิด Economies of Scale ซึ่งเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า Diseconomies of Scale หรือการไม่ประหยัดต่อขนาด

จากตัวอย่างที่เห็นด้านบนประกอบไปด้วยเพียงไม่กี่ปัจจัย แต่ในความเป็นจริงในการผลิตมีต้นทุนและข้อจำกัดที่มากกว่านั้น เพราะถ้าหากคิดแบบง่าย ๆ โดยมองข้ามข้อเท็จจริงถ้าเราเพิ่มจำนวนการผลิตเสื้อเป็น 1 ล้านตัว ต้นทุนการผลิตเสื้อจะเหลือเพียง ((1,000,000 x 50) + 300,000) ÷ 1,000,000 = 50.3 บาทต่อเสื้อ 1 ตัว

ซึ่งในความเป็นจริงบริษัทที่มีต้นทุนคงที่ซึ่งเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าโรงงาน และต้นทุนคงที่อื่น ๆ เพียง 300,000 บาท อาจมีความสามารถไม่มากพอที่จะผลิตเสื้อ 1 ล้านตัว ซึ่งถ้าบริษัทต้องการจะผลิตเสื้อมากขนาดนั้นก็อาจจะต้องจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น เช่าโรงงานที่กว้างขึ้น และเครื่องจักรมากขึ้น (ทำให้มีต้นทุนค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น)

ดังนั้น การเพิ่มจำนวนการผลิตเสื้อไปที่ 1 ล้านตัวแทนที่จะทำให้ต้นทุนเหลือ 50.3 บาท กลับทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพราะธุรกิจต้องขยับขยายกิจการจนต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้น และเมื่อต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะทำให้การผลิตเสื้อมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตาม ถ้าหากว่าเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นแต่ไม่ได้ใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เต็มที่ ซึ่งเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Diseconomies of Scale นั่นเอง

Finvestory

บทความเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ในโลกที่ทุกคนต่างลงทุน