นวัตกรรม (Innovation) ธุรกิจที่นักลงทุนมองหาและโอกาสเติบโตเศรษฐกิจ

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

นวัตกรรม คือ Innovation ตัวอย่าง

นวัตกรรมมักเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างมองหาเพราะนวัตกรรมมักแฝงไปด้วยความคาดหวังในมุมมองของนักลงทุนต่อการที่ธุรกิจเหล่านั้นจะเติบโตในอนาคต ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกับ “นวัตกรรม” อะไรบ้างที่นับว่าเป็นนวัตกรรม และเราจะสามารถมองหานวัตกรรมได้จากไหนบ้าง

นวัตกรรม คืออะไร?

นวัตกรรม คือ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ด้วยการคิดค้นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนขึ้นมาใหม่หรือปรับปรุงต่อยอดสิ่งที่มีอยู่เดิม โดยมีเป้าหมายในการใช้แก้ไขปัญหาหรือตอบสนองความต้องการบางอย่าง

นวัตกรรม (Innovation) จะเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อนวัตกรรมนั้นมีคุณค่าในทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีความต้องการนำไปใช้แก้ปัญหาบางอย่าง หรือในอีกความหมายหนึ่งหากนวัตกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ นวัตกรรมนั้นจะถูกนับเป็นเพียงสินค้าต้นแบบ (Prototype) เท่านั้น

ดังนั้นแล้ว องค์ประกอบของนวัตกรรมจึงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ความใหม่ (Newness) และประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ (Economic Benefit)

โดยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นอาจเป็นได้ทั้ง เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ หรือศาสตร์ใดก็ตามที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองความต้องการได้

ตัวอย่างนวัตกรรมที่ชัดเจนและเห็นภาพที่สุดในช่วงปี 2010s เป็นต้นมา คือ AI (Artificial intelligence) และ ML (Machine Learning) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการประมวลผลเพื่อช่วยลดระยะเวลาการทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเงิน การลงทุน และการแพทย์ มาตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นกระแสหลักเหมือนในปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึง Generative AI ที่ช่วยในงานง่าย ๆ ทั่วไป ขณะที่ AI ยังคงมีแนวโน้มที่จะต่อไปในอนาคตและสามารถทำงานที่ซับซ้อนได้ยิ่งขึ้น

การลงทุนในธุรกิจที่เป็นนวัตกรรม

โดยพื้นฐานการลงทุนคือการคาดหวังต่อสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในที่นี้คือ “ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ” หากนักลงทุนลงทุนในหุ้น Apple เป็นเพราะพวกเขาคาดว่าบริษัท Apple จะสามารถทำกำไรให้กับนักลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะยอดขายที่เพิ่มขึ้น การหาทางลดต้นทุนได้สำเร็จ การหาวิธีขายแพงขึ้นได้ หรือวิธีใดก็ตามที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า Apple จะทำให้พวกเขาได้กำไรและจ่ายปันผลให้พวกเขาได้

ในขณะที่นักลงทุนกลุ่มถัดมาที่ไม่ได้ต้องการเงินปันผลจากการดำเนินงานของ Apple ก็คาดหวังว่า ด้วยความคาดหวังของนักลงทุนกลุ่มแรกที่มีต่อผลกำไรจะทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น Apple มากขึ้นจนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาหุ้น Apple เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตตามกลไกตลาด นักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะซื้อหุ้นตั้งแต่เนิ่น ๆ และรอถึงวันที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์เพื่อขายหุ้นออกไปเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคาที่เราเรียกว่า Capital Gain

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจะมองหาธุรกิจที่เป็นนวัตกรรม เนื่องจากธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมเป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนซึ่งทำให้ธุรกิจนวัตกรรมมักจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันต่อไปนี้ติดตัวอยู่เสมอ

  1. ความแตกต่าง จากการที่ไม่เคยมีมาก่อน และการที่สามารถตอบสนองได้มากกว่าสินค้าประเภทเดียวกันในอดีต ทำให้ธุรกิจมีความโดดเด่นในการแข่งขันเหนือคู่แข่งในระยะแรกเป็นอย่างน้อย
  2. ศักยภาพในการเติบโต เนื่องจากเป็นสินค้าหรือบริการที่เพิ่งเริ่มต้นและอยู่ในระยะแรกที่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดไม่มาก นั่นหมายความว่าเมื่อส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงความน่าจะเป็นที่กำไรจะเพิ่มขึ้นได้อย่างทวีคูณ
  3. ความรู้ความชำนาญของธุรกิจ แม้ว่าในระยะยาวสินค้าหรือบริการที่เป็นนวัตกรรมจะมีผู้ตามสร้างสิ่งเลียนแบบขึ้นมาไม่มากก็น้อย แต่ความรู้ความชำนาญของบริษัทที่เป็นผู้เริ่มต้นของนวัตกรรมบางประการมักจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสิ่งนั้น ๆ จากการลองผิดลองถูกมาก่อน
  4. ศักยภาพในการทำกำไรที่มากขึ้นในอนาคต เมื่อถึงจุดที่ธุรกิจสามารถทำให้กระบวนการผลิตมีต้นทุนที่ลดลงได้ด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกับข้อ 3. กำไรจากธุรกิจยังสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกจากต้นทุนที่ลดลง เหมือนกับที่เกิดขึ้นมาในทุกอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ แบตเตอรี่ โทรศัพท์ และสินค้าใด ๆ ก็ตามรอบตัวเรา

ทั้งหมดเป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนในอดีตและปัจจุบันจึงมักจะมองหาการลงทุนในธุรกิจที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ มาโดยตลอด

เราจะสามารถมองหานวัตกรรมได้จากไหนได้บ้าง

ในฐานะผู้ใช้งานนวัตกรรมและนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่เรียกว่าเป็นนวัตกรรม คุณสามารถมองหานวัตกรรมได้แบบ Top-down โดยเริ่มจากค้นหาจากประเภทของนวัตกรรมที่แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) นวัตกรรมการผลิตหรือการดำเนินงาน (Process Innovation) และนวัตกรรมธุรกิจ (Business Innovation)

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) คือ นวัตกรรมที่เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์บางอย่างขึ้นใหม่ หรือปรับปรุงสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยแก้ไขข้อด้อยที่เป็น Pain Point บางประการ เช่น การเปลี่ยนสูตรและวัตถุดิบในการผลิต การปรับเปลี่ยนดีไซน์สินค้าเพื่อตอบสนองต่อปัญหาบางประการ และการเพิ่มเติมฟังก์ชันการทำงานบางอย่าง

นวัตกรรมการดำเนินงาน (Process Innovation) คือ นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ หรือใช้กระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อผลิตภาพที่มากกว่าเดิม เช่น การใช้ระบบ Just-In-Time ของ Toyota ที่เปลี่ยนมุมมองในผลิตสินค้าจำนวนมากแบบ Mass Production เป็นการผลิตพอดีตามคำสั่งซื้อเพื่อลดความสูญเปล่าในการผลิต

นวัตกรรมธุรกิจ (Business Innovation) คือ นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในระดับองค์กรซึ่งมีเป้าหมายในปรับปรุงขั้นตอน/กระบวนการขององค์กรให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เพื่อความรวดเร็ว การลดต้นทุน การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนการขยายขอบเขตธุรกิจขององค์กรทั้งในแนวดิ่งและในแนวราบ

ทำไมการไม่มีนวัตกรรมเป็นปัญหากับตลาดหุ้น

หากเราแบ่งกลุ่มธุรกิจมากกว่าหมื่นบริษัททั่วโลกออกเป็นประเภทตามลักษณะพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจ เราจะสามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • ผู้ผลิต คือธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตบางสิ่งขึ้นมาซึ่งการดำเนินงานในธุรกิจประเภทนี้จะเป็นการผลิตอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ตลอดจนการรับผลิตสินค้าตามสั่งจากบริษัทนวัตกรรม
  • การให้บริการ คือธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการ อย่างเช่น ธุรกิจบริการในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับบริการทางด้านการเงิน ธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทาง และธุรกิจให้เช่า
  • ผู้พัฒนานวัตกรรม ที่เป็นธุรกิจที่อาจเป็นได้ทั้งการผลิตสินค้าและการให้บริการ แต่ส่วนที่ทำให้ธุรกิจประเภทนี้แตกต่างคือการมีสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ด้วยนวัตกรรมบางอย่าง

โดยพื้นฐานธุรกิจประเภทผู้ผลิตและธุรกิจบริการเป็นธุรกิจที่เรียกว่าเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (Old Economy) ที่พึ่งพาอำนาจในตลาดเพื่อการเป็นจุดแข็งของการดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเหล่านี้คือเมื่อธุรกิจแบบดั้งเดิมเหล่านี้เติบโตจนถึงจุดหนึ่ง การเติบโตครั้งละมาก ๆ จะกลายเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากขนาดของตลาดเป็นสิ่งที่จำกัดและการเติบโตของบริษัทอิงอยู่กับขนาดของตลาด

แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะตัดสินใจขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะครองส่วนแบ่งมหาศาลได้เท่ากับที่เคยทำในประเทศแม่ ในขณะที่หากใช้ความพยายามอย่างมหาศาลทำจนสำเร็จ ในอนาคตอันใกล้พวกเขาก็จะพบกับปลายทางเดิมที่พบในประเทศแม่ที่ทำให้ต้องขยายสู่ต่างประเทศ

เมื่อปลายทางของธุรกิจแบบ Old Economy มักจะมีเพดานของการเติบโตที่ชัดเจนรออยู่ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมเหล่านี้ไม่ได้รับการคาดหวังจากนักลงทุนมากนักซึ่งนำไปสู่ราคาหุ้นที่ไม่ไปไหน เพราะราคาหุ้น = ความคาดหวังต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต จึงเป็นเหตุว่าทำไมตลาดหุ้นที่มีแต่หุ้นของธุรกิจแบบดั้งเดิมอยู่จึงมักจะมีราคาที่ไม่ไปไหน

จริงอยู่ที่เมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจของผู้พัฒนานวัตกรรมจะมีคู่แข่งที่ทำสินค้าหรือบริการที่เหมือนหรือคล้ายกันออกมา จนทำให้ถึงจุดหนึ่งนวัตกรรมจะกลายเป็นสินค้าหรือบริการทั่วไป อย่างเช่น Cloud Computing ที่ในอดีตอาจดูเป็นนวัตกรรมล้ำสมัย แต่ปัจจุบันไม่ใช่ธุรกิจที่ยากจะเริ่มต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของวัฏจักรธุรกิจ

แต่สิ่งสำคัญของธุรกิจที่เป็นผู้สร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมอยู่ที่การวิจัยและพัฒนาระหว่างทาง เมื่อธุรกิจเหล่านี้สร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาด้วยการวิจัยและพัฒนา พวกเขาจะมีความรู้ (Know-how) ที่พร้อมจะหยิบไปต่อยอดในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ที่เป็นสิ่งที่เหนือกว่าธุรกิจประเภททำตาม (Me-Too Business) ที่ใช้แบบแผนที่ผู้พัฒนานวัตกรรมได้สร้างเอาไว้ในอดีตเป็นแม่แบบ ดังนั้นแล้วการที่บอกว่าตลาดหุ้นประเทศ A ก็มีบริษัทเทคโนโลยี แต่บริษัทเทคโนโลยีที่ว่าเป็นเพียงธุรกิจที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีให้กับองค์กรที่เป็นเพียงธุรกิจบริการ บริษัทที่เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ บริษัทสื่อสาร บริษัทที่ให้บริการคลาวด์ และบริษัทที่รับทำระบบพื้นฐานทั่วไปให้องค์กร จึงไม่ต่างอะไรกับการไม่มีบริษัทเทคโนโลยีอยู่

เกี่ยวกับ:

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: