Inventory Turnover Ratio เครื่องมือวัดความสามารถบริหารสินค้าคงเหลือ

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

Inventory Turnover Ratio คือ อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ สูตร วิธีคำนวณ อธิบาย ความหมาย ITR Average Inventory Period คือ ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย

Inventory Turnover Ratio คือ อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้บอกจำนวนครั้งที่ธุรกิจสามารถขายสินค้าออกไปได้ภายในแต่ละรอบบัญชี คำนวณมาจากการนำ “ต้นทุนขาย” หารด้วย “สินค้าคงเหลือเฉลี่ย”

โดยค่าที่ได้จากการคำนวณ Inventory Turnover จะออกมาเป็นจำนวน “เท่า” ที่บอกถึงจำนวนครั้งที่สินค้าคงเหลือถูกขายออกไปใน 1 รอบบัญชี (โดยทั่วไปคือ 1 ปี) ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารสินค้าคงคลังของธุรกิจ

ดังนั้น ตัวเลขที่ดีกว่าของ Inventory Turnover Ratio จึงเป็นค่าที่มากกว่า ซึ่งสะท้อนถึงการที่ธุรกิจสามารถขายสินค้าคงเหลือออกไปได้มากครั้งกว่า ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าจากการเก็บสินค้าคงคลังเอาไว้นาน ตลอดจนการได้รับเงินสดมาใช้หมุนเวียนเป็นสภาพคล่องของธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

และในทางกลับกัน Inventory Turnover Ratio ที่น้อยกว่าจะสะท้อนถึงการที่ธุรกิจขายสินค้าออกไปได้น้อยครั้งกว่า ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดค่าใช้จ่ายจากต้นทุนสินค้าคงคลังที่ขายไม่ออก ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนการจัดเก็บ พื้นที่คลังที่ใช้ในการจัดเก็บ ปัญหาความเสียหายของสินค้าระหว่างการจัดเก็บ ปัญหาการสูญหาย และความเสี่ยงในการกลายเป็นสินค้าตกรุ่นหรือหมดอายุที่ไม่สามารถสร้างกำไร

วิธีคำนวณ Inventory Turnover Ratio

Inventory Turnover เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่คำนวณจาก “ต้นทุนขาย (Cost of Goods Sold)” หารด้วย “สินค้าคงเหลือเฉลี่ย (Average Inventory)” และจะมีหน่วยออกมาเป็นจำนวน “เท่า” หรือจำนวน “ครั้ง” ที่สินค้าคงเหลือถูกขายออกมา

Inventory Turnover Ratio = ต้นทุนขาย ÷ สินค้าคงเหลือเฉลี่ย

โดยที่

สินค้าคงเหลือเฉลี่ย = (สินค้าคงเหลือต้นงวด + สินค้าคงเหลือปลายงวด) ÷ 2

ตัวอย่างการคำนวณ Inventory Turnover Ratio สมมติว่าบริษัท finvestory มีต้นทุนขาย 5 ล้านบาท มีสินค้าคงเหลือต้นงวด 1 ล้านบาท และสินค้าคงเหลือปลายงวด 5 แสนบาท โดยค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมของ Inventory Turnover อยู่ที่ 6 เท่า

จากตัวอย่าง สินค้าคงเหลือเฉลี่ย = (1000000 + 500000) ÷ 2 = 750000

Inventory Turnover = 5000000 ÷750000 = 6.67 เท่า

จะเห็นว่าบริษัท finvestory มีอัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ หรือ Inventory Turnover Ratio ที่ 6.67 เท่า ซึ่งหมายความว่า ใน 1 รอบบัญชี บริษัทมีต้นทุนขายอยู่มากกว่าสินค้าคงเหลือเฉลี่ย 6.67 เท่า หรือในอีกความหมายหนึ่งบริษัทสามารถขายสินค้าคงเหลือออกไปได้ 6.67 ครั้ง ขายออกไปโดยที่จำนวนครั้งมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่เล็กน้อย

วัดความเร็วในการขายสินค้าด้วย Average Inventory Period

Average Inventory Period คือ ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้บอกระยะเวลาเฉลี่ยที่ธุรกิจใช้ในการขายสินค้าคงเหลือออกไป 1 ครั้ง

โดยการคำนวณระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยหรือ Average Inventory Period (AIP) จะคำนวณมาจากการนำ 365 ที่เป็นจำนวนวันใน 1 ปี หรือ 1 รอบระยะเวลาบัญชี หารด้วยตัวเลข Inventory Turnover Ratio (ITR) ที่บอกจำนวนครั้งที่ธุรกิจสามารถขายสินค้าคงคลังเหลือออกไปได้ในเวลา 1 ปี

หากอธิบายแบบง่าย ๆ Average Inventory Period คือ ตัวเลขที่ใช้บอกว่าถ้าใน 1 ปี ธุรกิจขายสินค้าคงเหลือออกไปได้ X ครั้ง แล้วโดยเฉลี่ยสามารถขายสินค้าออกไปได้ทุก ๆ กี่วันนั่นเอง

โดย Average Inventory Period ที่ดีควรมีค่าที่น้อย เพราะหมายถึงการที่ธุรกิจนั้นสามารถขายสินค้าคงคลังออกไปได้เร็ว ซึ่งทำให้ธุรกิจได้รับประโยชน์ด้านสภาพคล่อง และมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสินค้าคงคลังที่ต่ำกว่า

ในทางกลับกัน ระยะเวลาของ Average Inventory Period ที่มีค่ามาก สะท้อนถึงการที่กิจการขายสินค้าออกไปได้ช้า ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาสินค้าคงคลังของธุรกิจ

Average Inventory Period = 365 ÷ Inventory Turnover Ratio

หมายเหตุ: 365 อาจเปลี่ยนไปตามเวลาของรอบบัญชีที่แตกต่างกันได้

จากตัวอย่างเดิม Average Inventory Period = 365 ÷ 6.67 = 54.72 วัน

หมายความว่า โดยเฉลี่ยบริษัท finvestory ใช้เวลาประมาณ 55 วัน ในการขายสินค้าคงคลังออกไป 1 ครั้ง


ข้อควรระวังของการวิเคราะห์ Inventory Turnover

ข้อควรระวังประการแรก คือ อัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ เป็นข้อมูลในอดีต ดังนั้นแล้วในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลในอดีตของธุรกิจดังกล่าว จึงมีโอกาสที่ข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนหรือไม่สะท้อนผลการดำเนินงานในอนาคต

และอีกประการที่สำคัญคือ ในการเปรียบเทียบ Inventory Turnover Ratio และ Average Inventory Period หรืออัตราส่วนการเงินใดก็ตามควรเปรียบเทียบกับธุรกิจที่มีเงื่อนไขเดียวกันเพื่อผลการเปรียบเทียบที่เป็นการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน ข้อมูลของบริษัทในอดีต คาดการณ์ของบริษัทในอนาคต บริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกันที่มีเงื่อนไขใกล้เคียงกัน และค่าเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรม เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นเพราะในแต่ละธุรกิจมีลักษณะที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าอัตราส่วน Inventory Turnover ที่สูงเป็นเรื่องดีเสมอไป อย่างในธุรกิจที่มีต้นทุนและราคาสินค้าที่ต่ำ มักจะมีค่า Inventory Turnovers ที่สูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจทั่วไป เนื่องจากเน้นการผลิตสินค้าจำนวนมากแบบ Mass Production เพื่อใช้ประโยชน์จาก Economies of Scale และในทางกลับกันธุรกิจที่มีต้นทุนและราคาสินค้าต่อหน่วยสูงมักจะมี Inventory Turnovers Ratio เพราะธุรกิจเหล่านี้มักจะขายสินค้าออกไปน้อยครั้งแต่มีกำไรต่อหน่วยที่สูง อีกทั้งการที่เป็นสินค้าราคาสูงอาจจำเป็นที่จะต้องรอลูกค้าตัดสินใจในระยะเวลาหนึ่ง

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: