อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) สะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมาจริงหรือ?

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

อัตราการว่างงาน คือ ตัวเลข อัตราว่างงาน บอกอะไร ผู้ว่างงาน ผู้เสมือนว่างงาน

เมื่อระบบเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคและในขณะที่ผู้บริโภคนั้นมีกำลังซื้อจากการทำงานอยู่ในระบบเศรษฐกิจ การทำความเข้าใจกับ อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ที่สะท้อนถึงรายได้ของผู้บริโภคในภาพรวมจึงเป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนสุขภาพของเศรษฐกิจ บทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกับที่มาของอัตราการว่างงาน ตลอดจนสิ่งที่อัตราการว่างงานบอกและไม่ได้บอก

อัตราการว่างงาน คืออะไร?

อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) คือ ตัวเลขร้อยละของกำลังแรงงานที่ว่างงานและยังคงหางานอยู่ในรอบ 1 เดือน คำนวณมาจากจำนวนผู้ว่างงาน (Unemployed) หารจำนวนกำลังแรงงาน (Labor Force) และคูณ 100

กำลังแรงงาน (Labor Force) คือ ประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป และทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง/สัปดาห์ และจะต้องไม่เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งในเงื่อนไขดังต่อไปดังนี้

  • กำลังศึกษา (ในสถานศึกษา)
  • อยู่ระหว่างการพัก
  • เป็นผู้ที่ไม่ทำงานแล้วเนื่องจากอายุมากเกินไป
  • เป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้าน
  • เป็นผู้ป่วยหรือพิการ

ผู้ว่างงาน (Unemployed) คือ กำลังแรงงาน (Labor Force) ที่ต้องการทำงานแต่ไม่มีงานทำหรืออยู่ระหว่างการหางาน

ผู้มีงานทำ (Employed) คือ ประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือในอีกความหมายหนึ่งคือ “กำลังแรงงาน (Labor Force) ที่มีงานทำ”

ตัวเลขอัตราการว่างงานเป็นตัวเลขที่หน่วยงานด้านสถิติในแต่ละประเทศจะเป็นผู้จัดทำขึ้น อย่างเช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ของไทย และ U.S. Bureau of Labor Statistics ของสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงข้อมูลการจ้างงานและการว่างงานภายในประเทศแต่ละประเทศ ตลอดจนสถิติที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็น เหตุผลของการว่างงานของผู้ว่างงาน สถิติตามระดับการศึกษาผู้ว่างงาน ประสบการณ์การทำงานของผู้ว่างงาน สถิติชั่วโมงการทำงานของผู้มีงานทำในแต่ละช่วงเวลา และโครงสร้างของกำลังแรงงานภายในประเทศ ตลอดจนจำนวนผู้เสมือนว่างงานที่เป็นผู้มีงานทำแต่ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ในภาคการเกษตร และผู้ที่มีงานทำแต่ทำงานน้อยกว่า 24 ชั่วโมง/สัปดาห์นอกภาคเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ ที่มักเกิดขึ้นจากการลดชั่วโมงการทำงานในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือจากปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้

สถิติอัตราการว่างงาน บอกอะไร?

สถิติอัตราการว่างงานถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจสำหรับการแสดงสถิติจำนวนแรงงานทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจว่ามีผู้ที่ไม่มีงานทำอยู่เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ตลอดจนภาพรวมของกำลังแรงงานและการจ้างงานภายในประเทศ ซึ่งบ่งบอกสภาพเศรษฐกิจโดยรวมว่าเป็นไปในทิศทางใด ขยายตัวหรือหดตัว

ในช่วงที่เศรษฐกิจดีหรือเศรษฐกิจขยายตัวดีอัตราการว่างงานมักจะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการขยายธุรกิจโดยส่วนใหญ่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จำเป็นที่จะต้องจ้างงานเพิ่มเพื่อขยับขยายธุรกิจ ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะหดตัว อัตราการว่างงานมักจะอยู่ในระดับที่สูง เพราะบริษัทส่วนใหญ่มีความจำเป็นที่จะต้องลดต้นทุนหรือไม่ขยายธุรกิจ ดังนั้นแล้วความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจจึงไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่บางธุรกิจอาจจะต้องลดจำนวนแรงงานลงเพื่อลดต้นทุนจากแรงงานเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ

โดยทั่วไปเป้าหมายตัวเลขอัตราการว่างงานมักจะเป็นตัวเลขการว่างงานที่ต่ำอันหมายถึงการผู้คนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจมีงานทำซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น และการใช้จ่ายในภาคการบริโภคที่เพิ่มขึ้นที่นำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ

แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอัตราการว่างงานที่ต่ำอาจเป็นปัจจัยลบ (หรือนำไปสู่ปัจจัยลบ) ได้ด้วยเช่นกัน เพราะอัตราการว่างงานที่ต่ำอย่างต่อเนื่องสามารถนำไปสู่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เนื่องจาก นายจ้างต่างเสนอเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีอย่างจำกัดไว้ สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าและบริการโดยรวมที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นได้เช่นกัน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอัตราการว่างงาน

ผู้ว่างงานหารด้วยกำลังแรงงาน คือ สมการที่เป็นที่มาของการคำนวณอัตราการว่างงาน ดังนั้นเมื่อพิจารณาเราจะพบว่าสิ่งที่อัตราการว่างงานสะท้อนคือสัดส่วนระหว่าง “ผู้ว่างงาน (Unemployed)” และ “กำลังแรงงาน (Labor Force)” ภายในระบบเศรษฐกิจหนึ่ง (อย่างเช่น ประเทศ)

สมมติว่า ในประเทศ A มีกำลังแรงงานอยู่ 16,800 คน และมีที่อยู่ในกลุ่มผู้ว่างงาน 1,200 คน ดังนั้น Unemployment Rate = (1,200 / 16,800) x 100 = 7.14%

จากสมการในกรณีตัวอย่างเราจะพบว่า สิ่งที่ทำให้อัตราการว่างงานสูงนั้นมาจากสัดส่วนกำลังแรงงานที่ไม่มีงานทำอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้นแล้วเราจึงพบว่าโดนส่วนใหญ่มักจะคาดหวังอัตราการว่างงานที่ต่ำ เพราะดูเหมือนว่าแสดงให้เห็นว่ามีสัดส่วนผู้ไม่มีงานทำต่ำเมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งหมด

จึงเป็นที่มาว่าทำไมหลายคนเชื่อว่าถ้าอัตราการว่างงานลดลงแสดงว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น เพราะเกิดการขยายตัวในภาคธุรกิจจนเกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และนำไปสู่ “จำนวนผู้มีงานทำที่มากขึ้น” หรือในอีกความหมายหนึ่งคือ “จำนวนผู้ว่างงานลดลง”

คำถามต่อมาคือ อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ที่ลดลง นั้นหมายถึง เศรษฐกิจดีขึ้นเสมอไปจริงหรือ?

อัตราการว่างงานลดลงแล้วเศรษฐกิจจะไม่ดีขึ้นได้อย่างไร?

อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรรู้ว่า “กำลังแรงงานไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความต้องการแรงงานไปทิศทางเดียวกันเสมอไป” หากกำลังแรงงานโดยรวมลดลงโดยที่ความต้องการแรงงานเท่าเดิม ก็สามารถทำให้ตัวเลขอัตราการว่างงานลดลงได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำ (Low Fertility Rate) และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่กำลังแรงงาน (Labor Force) โดยรวมลดลง แต่ความต้องการแรงงานในตลาดแรงงานยังคงเดิม

จากตัวอย่างเดิมในตอนต้น หากกำลังแรงงานหายไป 500 คน จากการเกษียณและการเสียชีวิตไปโดยไม่มีประชากรรุ่นใหม่กลับมาทดแทน จะทำให้กำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจของประเทศ A เหลืออยู่ 16,300 คน ทั้งที่ความต้องการแรงงานในตลาดยังคงมีความต้องการเท่าเดิมที่ 15,600 ตำแหน่ง (กำลังแรงงานทั้งหมด 16,800 – ผู้ว่างงาน 1,200 คน) อีกทั้งการหายไปของกำลังแรงงาน 500 คน ยังทำให้จำนวนผู้ว่างงานหายไป 500 คนเท่ากันจากการที่ผู้ว่างงานจำนวนนั้นเข้าไปทดแทนกำลังแรงงานที่หายไป 500 คนอย่างถาวร และเหลือผู้ว่างงาน 700 คน (1,200 – 500)

เหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้ตัวแปรในสมการเปลี่ยนเป็น Unemployment Rate = (700 / 16,300) x 100 = 4.29%

จะเห็นว่าการหายไปของกำลังแรงงานในกรณีตัวอย่างทำให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 4.29% จาก 7.14% ทั้งที่เศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้นและไม่ได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นแล้วหากเราพิจารณาตัวเลขอัตราการว่างงานเพียงอย่างเดียวโดยไม่พิจารณาตัวเลขสถิติอื่น ๆ เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแท้จริงแล้วตัวเลขอัตราการว่างงานนั้นกำลังสะท้อนว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือนมกราคม 2021 ที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.9% เท่านั้น อันเป็นผลจากปัญหาโครงสร้างอายุของประชากรในสังคมที่อยู่ในภาวะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ยังไม่ได้บอกทุกด้านของตลาดแรงงานในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพของงาน อัตราการรู้หนังสือของแรงงาน ความสามารถด้านภาษาที่นายจ้างต้องการของแรงงาน ตลอดจนจำนวนผู้ที่มีงานทำเป็นงาน part-time ทั้งที่พวกเขาอาจจะอยากทำงาน full-time


จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะเปรียบเทียบอัตราการว่างงานโดยตรงระหว่างเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ ที่มีโครงสร้างอุตสาหกรรม รูปแบบตลาดแรงงานที่แตกต่างกัน และเป็นเหตุผลที่ไม่ควรวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจด้วยดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ดัชนี

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: