GDP คือสิ่งที่ใช้วัดมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างไร?

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

GDP คือ ย่อมาจาก Gross Domestic Product หมายถึง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

Gross Domestic Product หรือ GDP คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นตัวเลขแสดงมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตขึ้นภายในประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงว่าจะใช้ทรัพยากรจากประเทศใดในการผลิต

GDP เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่แพร่หลายที่สุดสำหรับการบอกมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น เดือน ไตรมาส และปี โดยมูลค่า GDP ในแต่ละช่วงเวลาจะช่วยให้ทราบถึงการเติบโตหรือการหดตัวของเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับอีกช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งสะท้อนการจับจ่ายใช้สอยของประเทศในแต่ละช่วงเวลาตามการเปลี่ยนแปลงของการใช้จ่ายในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล

โดยวิธีคำนวณ GDP ที่ได้รับความนิยมที่สุดจะใช้วิธีคำนวณแบบ Expenditure Approach ซึ่งจะวัด GDP จากรายจ่ายจากสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย โดยคำนวณมาจากมูลค่าการใช้จ่ายของประเทศ 4 ส่วน ได้แก่ การบริโภค (Consumption), การลงทุนของภาคเอกชน (Investment), การใช้จ่ายของภาครัฐ (Government Spending) และรายได้จากการค้าระหว่างประเทศ (Net Export) ซึ่งสามารถเขียนเป็นสมการได้ว่า GDP = C + I + G + (X – M)

ที่มาของตัวเลข GDP

แม้ว่า Expenditure Approach จะเป็นรูปแบบการคำนวณ GDP ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายที่สุดจากความง่ายในการคำนวณและความง่ายในการจัดทำข้อมูล แต่แท้จริงแล้ววิธีการคำนวณ GDP สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่

Production Approach หรือ Value-Added Approach คือ การวัด GDP จากผลรวมของมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของทุกการผลิตในรอบระยะเวลาหนึ่ง โดยที่มูลค่าเพิ่มหมายถึงยอดขายรวมหักด้วยมูลค่าของปัจจัยการผลิตขั้นกลางในกระบวนการผลิต (แป้งจะเป็นปัจจัยการผลิตระดับกลางของขนมปังที่เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย)

Income Approach คือ การวัด GDP จากรายได้จากการขายสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย คำนวณมาจาก GDP = ผลรวมของ National Income + ภาษีขาย + ค่าเสื่อมราคา + รายได้สุทธิของคนต่างชาติในประเทศ

Expenditure Approach คือ การวัด GDP จากรายจ่ายจากสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย คำนวณมาจาก GDP = การบริโภค + การลงทุนของเอกชน + การใช้จ่ายและลงทุนของรัฐ + มูลค่าส่งออกสุทธิ หรือที่รู้จักกันในรูปสมการ GDP = C+I+G+(X-M)

ทั้งนี้ GDP เป็นเพียงมูลค่าเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ตัวเลข GDP จะไม่รวมข้อมูลบางประการที่ไม่อยู่ในขอบเขตของการจัดเก็บข้อมูล GDP ซึ่งได้แก่

  • รายได้ที่เกิดนอกประเทศ เช่น การคนไทยเปิดบริษัทในต่างประเทศ ที่จะนับเป็น GNP (Gross National Product)
  • การซื้อขายด้วยเงินสดนอกตลาด
  • สินค้าผิดกฎหมาย เงินผิดกฎหมาย และสินค้าเลี่ยงภาษี เนื่องจากไม่สามารถเก็บข้อมูลได้
  • ค่าใช้จ่ายของการซื้อสินค้ามือสองที่ไม่ทำให้ผลผลิตของประเทศเพิ่มขึ้น (เป็นเพียงการเปลี่ยนมือของเจ้าของ)
  • การลงทุนทางการเงิน ที่เป็นเพียงการย้ายเงินจากตราสารทางการเงินหนึ่งไปยังอีกตราสารทางการเงินหนึ่ง

รายงาน GDP บอกอะไร

ตามปกติรายงาน GDP ที่ออกมาจะมีหน่วยเป็นสกุลเงินของแต่ละประเทศ และมักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ GDP ในช่วงเวลาก่อนหน้า แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ YoY (Year on Year) ที่เป็นการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ QoQ (Quarter on Quarter) ที่จะเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถแปลความหมายของการเปรียบเทียบได้ดังนี้

  • อัตราการเติบโต GDP เป็นบวก คือ การที่มูลค่า GDP เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่นำไปเปรียบเทียบ จากการที่การใช้จ่ายภานในประเทศเพิ่มขึ้น
  • อัตราการเติบโต GDP เป็นลบ คือ การที่มูลค่า GDP ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่นำไปเปรียบเทียบ จากการที่การใช้จ่ายภายในประเทศลดลง

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ GDP เติบโตเพิ่มขึ้นหรือหดตัวจะสามารถพิจารณาได้จากมูลค่าการใช้จ่ายของประเทศทั้ง 4 ส่วน ที่แสดงอยู่ในรายงาน GDP ของแต่ละประเทศที่ส่วนใหญ่ประกาศออกมาในรายไตรมาสและรายปี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือสถิติในแต่ละประเทศ อย่างในประเทศไทยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล GDP

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า GDP จะเป็นตัวเลขที่ใช้ในการเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การใช้ GDP เปรียบเทียบการเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย GDP เป็นเรื่องที่ทำได้จริงยาก เนื่องจากแต่ละประเทศมีเงื่อนไขที่ต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมในแต่ละประเทศ โครงสร้างประชากรและกำลังแรงงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องง่าย ๆ อย่างจำนวนประชากรและขนาดของประเทศ ตลอดจนมูลค่า GDP ตามปกติที่แตกต่างกัน ดังนั้นการนำตัวเลข GDP หรือแม้กระทั่งตัวเลขการเติบโต GDP มาเปรียบเทียบกันโดยตรงจึงเป็นสิ่งที่เสมือนไม่ได้สะท้อนอะไรและเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง

Consumption

Consumption คือมูลค่าของการบริโภคในภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป เป็นผลรวมของตัวเลขการใช้จ่ายของคนทั่วไปเกือบทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยหลังใหม่

การซื้อรถยนต์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ยารักษาโรค ค่าเสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการท่องเที่ยวภายในประเทศจะรวมอยู่ในส่วนนี้

ตามปกติ Consumption มักจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 65% หรือประมาณ 2 ใน 3 ของมูลค่า GDP จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศมักกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนใช้เงิน และเป็นคำตอบว่าทำไมการที่ประชาชนมีงานมีเงินจึงเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่มีสุขภาพดี ในทางกลับกันหากการใช้จ่ายส่วนนี้ลดลงหรือชะลอตัวก็อาจเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่กำลังฝืดเคือง

Investment

Investment คือมูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนในสินค้าทุน เป็นผลรวมของตัวเลขของการใช้จ่ายในภาคธุรกิจที่ใช้ไปกับสินค้าทุนที่โดยส่วนใหญ่ คือ ค่าเช่าอาคารสำนักงาน ค่าแรงพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องจักร และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เราเห็นได้ในบัญชีของบริษัท

นอกจากนั้น GDP ในส่วนของ Investment ยังรวมถึงส่วนของการซื้อบ้านหลังใหม่ของบุคคลทั่วไปด้วย แต่จะไม่รวมถึงการลงทุนทางการเงินอย่างการลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้ที่จะถูกนับเป็นการออม (Saving) ซึ่งเป็นเพียงการย้ายเงินจากสินทรัพย์ทางการเงินหนึ่งไปยังอีกสินทรัพย์ทางการเงินหนึ่งโดยที่ไม่ได้มีการใช้จ่ายเกิดขึ้น

Government Spending

Government Spending คือผลรวมของมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย เงินเดือนราชการ และค่าใช้จ่ายในการลงทุนของรัฐบาล แต่ไม่รวมถึงรายจ่ายประเภทเงินโอนของรัฐบาล เช่น สวัสดิการสังคม และผลประโยชน์การว่างงาน

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม มาตรการอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นรายจ่ายที่พบได้บ่อย ๆ ของ GDP ในส่วน Government Spending

Net Export

Net Export คือ มูลค่าการส่งออกสุทธิ คำนวณมาจาก มูลค่าการส่งออกลบด้วยมูลค่าการนำเข้า (Export – Import) หรือในอีกชื่อคือ ดุลการค้า (Trade Balance)

โดยมูลค่าการส่งออกสุทธิจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ เกินดุลการค้า (Surplus) ที่เกิดขึ้นจากการที่มูลค่าส่งออกมากกว่าการนำเข้า หรือมีการขายสินค้าให้ต่างประเทศมากกว่าซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลข Net Export เป็นบวก ขาดดุลการค้า (Deficit) ที่เกิดขึ้นจากการที่มูลค่าส่งออกน้อยกว่าการนำเข้า หรือมีการซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากกว่าขายสินค้าให้ต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลข Net Export เป็นลบ


GDP Per Capita คืออะไร?

GDP Per Capita คือ มูลค่า GDP เฉลี่ยต่อประชากร 1 คน ที่ใช้บอกว่าในประเทศดังกล่าวประชากร 1 คนสามารถสร้างมูลค่า GDP ได้เท่าไหร่โดยเฉลี่ย โดย GDP per Capita คำนวณมาจาก GDP ÷ จำนวนประชากรในประเทศ

ถ้าประเทศไทยมีประชากร 60 ล้านคน และ GDP ประเทศไทยคือ 18 ล้านล้านบาท GDP Per Capita ของไทยจะ = 18 ล้านล้าน ÷ 60 ล้าน หรือเท่ากับ 300,000 บาท หรือประชากรไทยโดยเฉลี่ย 1 คนสร้าง GDP ให้ประเทศไทยได้ 300,000 บาทในช่วงเวลาดังกล่าว

ตัวเลข GDP Per Capita เป็นอีกตัวเลขที่นิยมใช้ในการอธิบายคร่าว ๆ ในการบอกค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อหัวของประชาชนในประเทศเพื่อสะท้อนถึงการกระจายรายได้ภายในประเทศร่วมกับตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ถ้าหากรายได้ของประชากรส่วนใหญ่ไม่ห่างกับค่า GDP per capita มากนักหมายถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยไม่แตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรรู้คือ GDP Per Capita เป็นค่าเฉลี่ย ดังนั้นแล้วยิ่งประชากรมีรายได้แตกต่างกันมากและมีจำนวนประชากรตัวเลข GDP Per Capita จะยิ่งออกมาห่างจากตัวเลขรายได้จริงของประชาชนมากเท่านั้น (แม้ว่าจะไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำมากก็ตาม) อีกทั้งตัวเลข GDP Per Capita ยังเป็นค่าเฉลี่ยที่หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดทำให้เป็นตัวเลขที่ไม่สามารถสะท้อนรายได้ของกำลังแรงงาน (Labor Force) ภายในประเทศได้โดยตรง


ติดตามประกาศ GDP ได้จากที่ไหน?

ประกาศ GDP ของแต่ละประเทศจะรับผิดชอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือหน่วยงานด้านสถิติในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละประเทศจะมอบหมายหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำตัวเลข GDP และประกาศออกมา

โดยทั่วไปตัวเลข GDP จะถูกประกาศออกมาในแต่ละไตรมาสโดยหน่วยงานเหล่านี้ และการประกาศ GDP แต่ละไตรมาสจะประกาศออกมามากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งประกอบด้วยตัวเลขประมาณการ (Estimate) ในครั้งแรกเพื่อความรวดเร็วสำหรับการใช้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนที่จะประกาศตัวเลข GDP ที่ถูกจัดทำอย่างสมบูรณ์ตามมาภายหลัง

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: