ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition)

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ คือ Perfect Competition ข้อดี ข้อเสีย มีอะไรบ้าง ตัวอย่าง สินค้า

ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ คือ ตลาดที่ประกอบด้วยผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากที่สามารถเข้าและออกตลาดได้อย่างเสรี ทำการซื้อขายสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการโดยที่แต่ละฝ่ายมีข้อมูลข่าวสารครบถ้วน ส่งผลให้สินค้าในตลาดแข่งขันสมบูรณ์จะมีราคาเท่ากัน

จากลักษณะข้างต้นของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ราคาของสินค้าในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) จึงถูกกำหนดโดยกลไกราคาตลาดที่เกิดขึ้นตามผลของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ที่รู้จักกันในชื่อ “มือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand)” โดยที่ไม่มีผู้ซื้อหรือผู้ขายรายใดมีอำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคา

อธิบายให้ง่ายกว่านั้น เมื่อตลาดอยู่บนเงื่อนไขแบบตลาดแข่งขันสมบูรณ์ตัวเลือกของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีอยู่มาก ดังนั้นแล้วผู้ขายจึงไม่สามารถตั้งราคาที่สูงกว่าราคาตลาดเนื่องจากผู้ซื้อจะหนีไปซื้อกับผู้ขายอื่นได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่การลดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดผู้ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ ให้กับผู้ขายเนื่องจากผู้ขายไม่ได้มีเหตุผลให้ต้องแข่งขัน (และการแย่งส่วนแบ่งตลาดในตลาดประเภทนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้)

ด้วยเหตุนี้ หากคุณเป็นผู้ซื้อที่อยู่ในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ การซื้อสินค้าประเภทนั้น ๆ ไม่ว่าจะซื้อที่ไหนหรือเวลาใด คุณจะสามารถซื้อได้ในราคาเดียวกัน

5 ลักษณะของตลาดแข่งขันสมบูรณ์

เงื่อนไขที่จะทำให้ตลาดเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition Market) ในทางเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วย 5 เงื่อนไขดังนี้

สินค้าที่เหมือนกันทั้งตลาด (Homogeneous Products) – สินค้าหรือบริการทั้งหมดในตลาดที่มีการแข่งขันโดยสมบูรณ์จะเหมือนกันและสามารถใช้ทดแทนกันได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของคุณภาพและคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการนั้น

มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากอยู่ในตลาด – เมื่อมีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากอยู่ในตลาดจะทำให้ทุกคนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของตลาด ส่งผลให้ไม่มีผู้ซื้อหรือผู้ขายรายใดมีอำนาจมีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาตลาด ผู้เล่นทั้งหมดในตลาดเป็นเพียง Price Taker ที่ต้องซื้อขายกันตามราคาตลาดที่เกิดขึ้นตามกลไกราคา ผู้ขายจึงอาจทำได้เพียงการลดต้นทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อเพิ่มกำไรให้ได้มากที่สุด และเป็นสิ่งทำให้ Market Share ไม่มีผลต่อราคา

ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลในการตัดสินใจซื้อขายอย่างสมบูรณ์ – โดยที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะมีข้อมูลที่สมบูรณ์และเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลเกี่ยวสภาวะตลาด แหล่งซื้อขาย คุณภาพ ราคาและปริมาณของสินค้าหรือบริการในตลาด

ผู้ขายสามารถเข้าและออกจากตลาดได้อย่างอิสระ – ผู้ขายรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายเมื่อต้องการโดยไม่มีอุปสรรคใดมากีดกัน ขณะที่ผู้ขายเก่าที่ต้องการออกจากตลาดก็สามารถออกจากตลาดได้อย่างง่ายดายเมื่อต้องการโดยไม่มีข้อผูกมัด

การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตและแรงงานเป็นไปอย่างเสรี – ไม่มีอุปสรรคหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการเคลื่อนย้าน ตลอดจนความยืดหยุ่นของปัจจัยการผลิตและแรงงานที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเปลี่ยนได้ทันทีที่ต้องการ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องจับคู่ปัจจัยการผลิตหรือแรงงานบางประเภทกับงานเฉพาะทาง

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 ลักษณะของตลาดแข่งขันสมบูรณ์เป็นเพียงเงื่อนเบื้องต้นที่เป็นพื้นฐานของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) เท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ยังรวมไปถึงรายละเอียดเล็กน้อย อย่างเช่น การที่ผู้ซื้อขายมีแรงจูงใจในการเเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา, การที่ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมเป็นศูนย์, ไม่มีการควบคุมแทรกแทรงตลาดจากรัฐบาล, การขนส่งราคาถูกและมีประสิทธิภาพ, และต้นทุนหรือผลประโยชน์ของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดไม่ส่งผลต่อบุคคลที่สาม

ตัวอย่าง ตลาดแข่งขันสมบูรณ์

ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เป็นรูปแบบสมมติของตลาดที่ยากจะมีอยู่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งเป็นรูปแบบของตลาดที่มักจะถูกหยิบยกนำมาใช้ในทางทฤษฎีเพื่อเป็นกรอบแนวคิดเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบกับตลาดรูปแบบอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึง ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ตัวอย่างสินค้าที่ใกล้เคียงกับตลาดลักษณะนี้คือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities Goods) ที่เป็นสินค้าที่มีลักษณะและราคาเป็นมาตรฐานไม่ต่างกันมากแม้ว่าจะผลิตอยู่ที่ไหนของโลก ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ สินค้าเกษตร และน้ำมัน ในกรณีนี้เราจะเห็นว่าด้วยการที่สินค้ามีลักษณะไม่ต่างกันมากและนักลงทุนมีข่าวสารที่เหมือน ๆ กันทั่วโลก เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในแต่ละตลาดแตกต่างกันมากไปจะทำให้เกิดการ Arbitrage ระหว่างตลาดเพื่อทำกำไรโดยนักลงทุนที่เห็นช่องทาง จนท้ายที่สุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลับเข้าสู่จุดดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium) ที่เหมาะสมในท้ายที่สุดตามกลไกราคา

หรือในอีกกรณีหนึ่งคือในกรณีของตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองตัวอย่างเป็นเพียงสิ่งที่เป็นได้เพียงตลาดที่ดูใกล้เคียงกับการเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ในทางปฏิบัติข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจซื้อขายที่เป็นเงื่อนไขหนึ่งของตลาดแข่งขันสมบูรณ์มีความเหลื่อมล้ำอยู่ไม่มากก็น้อย ทำให้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งจะมีผู้ได้เปรียบเหนือตลาดจากข้อได้เปรียบดังกล่าว

ข้อดีและข้อจำกัดของตลาดแข่งขันสมบูรณ์

ตามที่ได้เคยกล่าวถึงในตอนต้นว่าตลาดแข่งขันสมบูรณ์เป็นรูปแบบสมมติของตลาดที่ยากจะมีอยู่ได้จริง และเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของตลาดในทางทฤษฎีที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบกับตลาดรูปแบบอื่น ๆ ดังนั้นแล้วตลาดแข่งขันสมบูรณ์จึงมีข้อดีและข้อเสีย ดังนี้

ข้อดีของตลาดแข่งขันสมบูรณ์

  • กรอบแนวคิดสะดวกกับการนำมาใช้งานเนื่องจากมีเงื่อนไขที่ชัดเจน ซึ่งสะดวกสำหรับการสร้างแบบจำลองพฤติกรรมของตลาด หรือการนำไปใช้ในการเปรียบเทียบกับตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect Competition) รูปแบบอื่น ๆ
  • แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นแรงจูงใจของผู้ผลิตในการเสนอราคาที่ต่ำกว่า เพื่อการทำความเข้าใจกลไกของตลาด
  • เป็นแบบจำลองที่สามารถแสดงให้เห็นถึงกลไกราคาของตลาดได้อย่างชัดเจน

ข้อจำกัดของตลาดแข่งขันสมบูรณ์

  • ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ไม่ใช่รูปแบบของตลาดที่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความจริง เนื่องจากมีหลายเงื่อนไขที่เป็นไปได้ยาก (มาก) ตามที่เราได้เน้นย้ำอยู่ตลอดในบทความนี้
  • แบบจำลองไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์หรือความแปรผันระหว่างสินค้าที่ไม่มีทางเหมือนกันได้มากขนาดนั้นในทางปฏิบัติ
  • แบบจำลองไม่ได้คำนึงถึงการที่ที่ผู้ผลิตจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่สามารถส่งผลได้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Series ทำความเข้าใจ “ตลาด” ในทางเศรษฐศาสตร์ ยังมีอีก 3 บทความที่เกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ

เกี่ยวกับ:

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: