Current Ratio เครื่องมือพื้นฐานในการวัดสภาพคล่องธุรกิจ

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

Current Ratio คือ อัตราส่วนทุนหมุนเวียน หรือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน วิธีคำนวณ สูตร Current Ratio

Current Ratio คือ อัตราส่วนทุนหมุนเวียน หรือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่บอกความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์หมุนเวียนของธุรกิจที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นเงินสดสำหรับการชำระหนี้ระยะสั้น เพื่อสะท้อนสภาพคล่องของธุรกิจ

การวิเคราะห์ Current Ratio เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สุดสำหรับการอธิบายถึงสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจผ่านการเปรียบเทียบระหว่าง สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) กับ หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) ว่าธุรกิจมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้รวดเร็วอยู่มากแค่ไหนเมื่อเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนที่ธุรกิจจำเป็นจะต้องรีบชำระในระยะเวลาอันใกล้ภายใน 1 ปีหรือเร็วกว่านั้น

โดยพื้นฐานค่า Current Ratio ที่ดี คือ ค่าที่มากกว่า 1 เพราะหมายถึงการที่ธุรกิจมีสินทรัพย์หมุนเวียนอยู่มากกว่าหนี้สินหมุนเวียน และเมื่อนำ Current Ratio ของบริษัทหนึ่งไปใช้เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม บริษัทคู่แข่ง หรือผลงานของบริษัทในอดีต ค่าที่มากกว่าจะหมายความว่ามีสภาพคล่องดีกว่า ในขณะค่าที่น้อยกว่าหมายถึงการที่สภาพคล่องด้อยกว่า

จะเห็นว่า Current Ratio เป็นสิ่งที่สะท้อนความมั่นคงของธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้นของธุรกิจโดยไม่จำเป็นที่จะต้องขายสินทรัพย์ถาวรของธุรกิจออกไปเพียงเพราะการนำเงินไปใช้ชำระหนี้ระยะสั้น (ที่มักจะเป็นการขายออกไปด้วยราคาต่ำกว่าตลาด) หรือกู้เงินอีกก้อนมาใช้ชำระหนี้ระยะสั้นซึ่งนำไปสู่ภาระดอกเบี้ยซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น

วิธีคำนวณ Current Ratio

การคำนวณ Current Ratio จะคำนวณโดยการนำรายการ สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) มาหารด้วย หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นจำนวนเท่าของสินทรัพย์หมุนเวียนต่อหนี้สินหมุนเวียน

Current Ratio = สินทรัพย์หมุนเวียน ÷ หนี้สินหมุนเวียน

ตัวอย่างเช่น บริษัท finvestory มีสินทรัพย์หมุนเวียน 1 ล้านบาท และมีหนี้สินหมุนเวียน 250,000 บาท ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่ที่ 6 เท่า

จากตัวอย่าง Current Ratio จะได้เท่ากับ = 1,000,000 ÷ 250,000 = 4 เท่า

หมายความว่า บริษัท finvestory มีสินทรัพย์หมุนเวียนมากหนี้สินหมุนเวียนคิดเป็น 4 เท่า อยู่ในระดับที่มากเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ระยะสั้นของบริษัทเมื่อจำเป็น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถดู Current Ratio ของบริษัทที่ต้องการได้จากรายงานประจำปีของบริษัทมหาชนที่ต้องการ ซึ่งจะแสดงอยู่ในส่วนของข้อมูลงบการเงินในหน้าหุ้นรายตัวบนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพร้อมกับอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ

ข้อควรระวังในการใช้ Current Ratio

แม้ว่า Current Ratio ที่สูงมักถูกมองเป็นเรื่องดี แต่บางครั้งอัตราส่วน Current Ratio ที่สูงเกินไปบางครั้งอาจส่งสัญญาณเชิงลบของธุรกิจออกมาได้ดังนี้

  • การที่ธุรกิจถือสินทรัพย์หมุนเวียนเอาไว้มากเกินไปโดยไม่ได้นำไปใช้ทำประโยชน์
  • สินทรัพย์หมุนเวียนที่ถืออยู่ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่แปลงเป็นเงินสดได้ยาก อย่างเช่น สินค้าคงคลัง และวัสดุสำนักงาน

ทำให้การวิเคราะห์ Current Ratio จำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับอัตราส่วนทางการเงินรูปแบบอื่น ๆ อย่างเช่น Quick Ratio และ Total Asset Turnover ตลอดจนการพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงอื่น ๆ อย่างเช่นลักษณะของธุรกิจที่กำลังวิเคราะห์

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: