ธนาคารกลาง (Central Bank) และบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

ธนาคารกลาง คือ หน่วยงาน Central Bank หน้าที่ของธนาคารกลาง มีอะไรบ้าง

รู้หรือไม่ว่าการตัดสินใจของธนาคารกลาง ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการดำเนินนโยบายการเงินอื่น ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคนในทุกมิติทางเศรษฐกิจและการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออม การลงทุน หรือแม้แต่ราคาสินค้าที่เราซื้อมาใช้

บทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ “ธนาคารกลาง (Central Bank)” มาดูกันว่าแท้จริงแล้วธนาคารกลางเป็นใคร? หน้าที่ของธนาคารกลาง และอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้การแถลงข่าวและรายงานของธนาคารกลางได้รับความสนใจ ตลอดจนทำความรู้จักกับ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand)” ที่เป็นธนาคารกลางของประเทศไทย

ธนาคารกลาง คืออะไร?

ธนาคารกลาง คือ หน่วยงานกลางในแต่ละประเทศที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพราคาและดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินนโยบายการเงิน และมาตรการอื่น ๆ ภายใต้อำนาจและวัตถุประสงค์ของธนาคากลาง

หน้าที่ของธนาคารกลาง โดยทั่วไปจึงเกี่ยวข้องกับการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินของประเทศสามารถให้บริการได้อย่างราบรื่นและยังคงดำเนินต่อไปได้แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยไม่คาดฝัน และการรักษาเสถียรภาพราคาโดยรวมในประเทศไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยเกินไป โดยมีเครื่องมือหลักเป็นนโยบายการเงิน (Monetary Policy) และเครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ

เพราะฉะนั้น ธนาคารกลาง จึงเป็นหน่วยงานที่จะไม่ทำธุรกรรมการเงินกับประชาชนโดยตรง แต่จะทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐในฐานะนายธนาคารของรัฐบาล และสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารกลางในฐานะนายธนาคารของสถาบันการเงินเท่านั้น รวมถึงเป็นผู้ดำเนินนโยบายการเงินที่ส่งผลในภาพรวมของเศรษฐกิจเท่านั้น

จะเห็นว่าธนาคารกลางที่มีหน้าที่โดยรวมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน จึงจำเป็นที่จะต้องแน่ใจว่าการตัดสินใจของธนาคารกลางจะไม่ถูกแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทำให้โดยส่วนใหญ่ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากการแทรกแซงทางการเมือง และการตัดสินใจนโยบายต่าง ๆ จะดำเนินโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางโดยตรง (แม้ว่ารัฐบาลมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บริหารธนาคารกลางบนเงื่อนไขคุณสมบัติที่กำหนด และสภานิติบัญญัติเป็นผู้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง)

ดังนั้น หากถามว่า “ธนาคารกลางมีหน้าที่ต่างจากธนาคารพาณิชย์อย่างไร” คำตอบคือ ธนาคารกลางทำหน้าที่ดูแล ควบคุม และช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการให้สินเชื่อกับลูกค้า ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

หน้าที่ของธนาคารกลาง

หน้าที่ของธนาคารกลางเป็นสิ่งที่ค่อนข้างกว้างและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศตามที่ถูกตราไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ แต่โดยทั่วไปเหตุผลในการมีอยู่และอำนาจหน้าที่ของธนาคารกลางมักจะเกี่ยวข้องกับ 8 ประเด็นที่ยึดโยงกับระบบการเงินและเศรษฐกิจในประเทศ ดังนี้

1. การดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของธนาคารกลางในการบรรลุเป้าหมายตามหน้าที่ของธนาคารกลาง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน การรักษาเสถียรภาพราคา การควบคุมอุปทานเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ การดูแลและให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงิน และการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน โดยนโยบายการเงินสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคยที่สุดคือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งผลไปยังอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ภายในประเทศ

  • มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easting)
  • มาตรการเชิงปริมาณ (Quantitative Tightening)
  • การควบคุมเส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control)

2. ควบคุมดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและระบบชำระเงินภายในประเทศ โดยธนาคารกลางจะเป็นผู้ที่มีสิทธิออกธนบัตรและเหรียญแต่เพียงผู้เดียว อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมระบบการชำระเงินรูปแบบอื่น (เช่น บัตรเดบิตและบัตรเครดิต) รวมถึงการบริหารสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves) ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินนโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือแม้แต่การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

3. ควบคุมอุปทานเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อดูแลไม่ให้เงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากและน้อยเกินไป เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

4. ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบการเงินของประเทศที่มีหน้าที่เชื่อมโยงแต่ละฝ่ายในระบบเศรษฐกิจจะสามารถให้บริการได้อย่างราบรื่นและยังคงดำเนินต่อไปได้แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ตลอดจนติดตามการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินอย่างใกล้ชิดพร้อมกับจัดทำงานวิจัยและเผยแพร่รายงานทางด้านเศรษฐกิจการเงินเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

5. รักษาเสถียรภาพราคา เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลมูลค่าของเงินด้วยการรักษาระดับราคาโดยรวมในเศรษฐกิจให้คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยเกินไปและไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินไป ซึ่งเสถียรภาพราคาสามารถวัดได้จาก “อัตราเงินเฟ้อ” โดยทั่วไปธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ มักจะมีเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Target) อยู่ที่ประมาณ 2% ต่อปี ซึ่งการรักษาเสถียรภาพราคาธนาคารกลางจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

6. กำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินภายในประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินภายในประเทศจะดำเนินการไปอย่างมั่นคงและเป็นไปตามกฎหมาย ผ่านข้อกำหนดอย่างเช่นอัตราส่วนสำรองเงินฝากขั้นต่ำ (Required Reserve Ratio)” ที่กำหนดว่าธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้เท่าใดโดยต้องเก็บเงินสดไว้ในมือเท่าใด และอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงิน (Liquidity Coverage Ratio) เป็นต้น รวมถึงติดตามผลกระทบของสถาบันการเงินเหล่านี้ต่อระบบการเงินโดยรวมอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน พร้อมกับให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินในด้านสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินนอกเหนือจากการกู้ยืมระหว่างสถาบัน

7. ทำหน้าที่เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล เป็นตัวแทนทางการเงินของธนาคาร ดูแลบัญชีเงินฝากของรัฐบาล ให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจกู้ยืมเงิน เป็นตัวแทนรัฐบาลในการซื้อขายหลักทรัพย์และสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงเป็นนายธนาคารของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

8. ทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน เหมือนกับการเป็นธนาคารของธนาคาร เช่น รับฝากเงินจากธนาคารพาณิชย์ ให้กู้ยืมเงิน รับหักบัญชีระหว่างธนาคาร ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การรับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ ของมีค่าอย่างอื่นของสถาบันการเงิน รวมถึงสามารถสั่งให้ส่งรายงานหรือชี้แจงเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน หรือภาระผูกพัน

กล่าวคือ หน้าที่ของธนาคารกลาง เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและเศรษฐกิจในประเทศ

นอกจากนี้ หน้าที่ของธนาคารกลางบางประเทศยังอาจมีหน้าที่แตกต่างและเจาะจงอย่างชัดเจนบางประการ อย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve System ที่ระบุหน้าที่ครอบคลุมไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่ส่งเสริมการจ้างงานสูงสุดและราคาที่มั่นคงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หน้าที่ของธนาคารกลางที่ชัดเจนในแต่ละประเทศจะถูกระบุเอาไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับธนาคารกลาง อย่างเช่นพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุหน้าที่ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ที่เป็นธนาคารกลางของประเทศไทย

สิ่งที่ทำให้ความเห็นของธนาคารกลางได้รับความสนใจ

เหตุผลที่ทำให้ความเห็นของธนาคารกลางได้รับความสนใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ภาครัฐบาล ทั้งในและต่างประเทศ เป็นเพราะธนาคารกลางคือผู้ที่กำหนดนโยบายการเงินและมาตรการต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยตรง

ฉะนั้น มุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงินต้องการในแต่ละช่วงเวลาจากข้อมูลที่ธนาคารกลางมี โดยที่เป้าหมายเหล่านั้นเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายในอนาคตในทิศทางดังกล่าว

กล่าวคือ ความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคาดการณ์แนวโน้มของนโยบายการเงินในอนาคต ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนการเงินในอนาคตได้จากข้อมูลที่ประกาศออกมาผ่านแถลงข่าวและการเผยแพร่รายงาน

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเองก็นับว่าเป็นการส่งสัญญาณไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าธนาคารกลางต้องการดำเนินนโยบายการเงินโดยมีเป้าหมายแบบใด

ทำความรู้จักธนาคารกลางที่สำคัญ

แม้ว่าธนาคารกลางจะทำหน้าที่ดูแลระบบการเงินภายในประเทศของตนเองเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการต่าง ๆ ของธนาคารกลางในประเทศหนึ่งสามารถส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ไปยังเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง อย่างเช่น พฤติกรรม Search for Yield ที่ทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปหาประเทศที่ดอกเบี้ยสูงกว่า และการใช้กลยุทธ์ Carry Trade กู้เงินสกุลที่มีดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปลงทุน

โดยทั่วไปธนาคารกลางที่ดำเนินนโยบายการเงินและสามารถส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นได้มักจะเป็นธนาคารกลางของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเกี่ยวโยงกับประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารกลางที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นลำดับต้น ๆ ได้แก่

  • ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Federal Reserve System (Fed) ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในหลายประเทศ อีกทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นเงินสกุลที่หมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจโลกมากที่สุด
  • ธนาคารกลางจีน หรือ People’s Bank of China (PBoC) ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 2 และมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเวทีเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา อีกทั้งยังเป็นประเทศเจ้าหนี้ลำดับต้น ๆ
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ Bank of Japan (BoJ) ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับ 3 ที่มักมีการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกับหลายประเทศที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ด้วยเงื่อนไขเฉพาะตัวของประเทศญี่ปุ่น
  • ธนาคารกลางเยอรมัน หรือ Deutsche Bundesbank เป็นหนึ่งใน 5 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เสมอมา อีกทั้งเศรษฐกิจเยอรมันยังเป็นเสาหลักของกลุ่มยูโรโซน
  • ธนาคารกลางยุโรป หรือ European Central Bank (ECB) ที่เป็นธนาคารกลางของประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่มีสมาชิกทั้งหมด 27 ประเทศ
  • ธนาคารกลางอังกฤษ หรือ Bank of England (BoE) หนึ่งในธนาคารกลางที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นธนาคารกลางที่มีบทบาทมากที่สุดแห่งหนึ่งจากขนาดเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและเงินสกุลปอนด์สเตอร์ลิง
  • ธนาคารกลางออสเตรเลีย หรือ Reserve Bank of Australia (RBA) เนื่องจากเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด

แม้คำว่า “ธนาคารกลาง” หรือ “Central Bank” จะเป็นคำที่เข้าใจตรงกันว่าเป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีคำศัพท์ที่เป็นสากลในการใช้เรียก “ธนาคารกลาง” ทำให้ชื่อของธนาคารกลางแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถจำแนกได้ 6 กลุ่ม คือ

  • Bank of … เป็นการเรียกตามชื่อเมืองหรือประเทศ เช่น Bank of Thailand และ Bank of Japan
  • National Bank เช่น Swiss National Bank
  • Reserve Bank เช่น Federal Reserve System และ Reserve Bank of Australia
  • State Bank เช่น State Bank of Vietnam
  • Central Bank เช่น European Central Bank และ Central Bank of the Republic of China (ของไต้หวัน)
  • Monetary Authority เช่น Monetary Authority of Singapore และ Hong Kong Monetary Authority

ซึ่งหน่วยงานที่มีชื่อในลักษณะนี้จะทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ

ธนาคารกลางของประเทศไทย มีชื่อว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย”

ธนาคารกลางของประเทศไทย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ Bank of Thailand (BoT) และมักถูกเรียกแบบสั้น ๆ ว่า “แบงก์ชาติ” โดยถูกเปลี่ยนจากสำนักงานธนาคารชาติไทยเป็นธนาคารกลางเมื่อ 10 ธันวาคม 2485 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485

โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ที่ถูกระบุเอาไว้ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน ดังนี้

  1. การออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร
  2. การกําหนดและดําเนินนโยบายการเงิน
  3. การบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.
  4. การเป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
  5. การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
  6. การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชําระเงิน
  7. การกํากับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
  8. การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งการบริหารจัดการสินทรัพย๋ในทุนสํารองเงินตรา ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
  9. การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
  10. การปฏิบัติการตามที่กฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของ ธปท.
  11. การกระทําการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สําเร็จตามวัตถุประสงค์ของ ธปท.

การตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินต่าง ๆ จะตัดสินใจโดย “คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)” หรือภาษาอังกฤษคือ “Monetary Policy Committee (MPC)” ซึ่งจะมีการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินและร่วมกันพิจารณากำหนดนโยบายการเงินปีละ 6 ครั้ง โดยประกาศตารางการประชุมล่วงหน้าในแต่ละปี (และอาจมีการประชุมนัดพิเศษเพิ่มเติมหากจำเป็น)กำหนดการประชุม กนง.

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: