ธนาคารกลาง คืออะไร? Central Bank มีหน้าที่อะไร

เผยแพร่เมื่อ

ใน

ธนาคารกลาง คือ Central Bank คือ หน้าที่ของธนาคารกลาง

ธนาคารกลาง คือ หน่วยงานกลางของแต่ละประเทศที่ทำหน้าที่ดูแลด้านนโยบายการเงิน (Monetary Policy) ด้วยมาตรการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่กำกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่อยู่ใต้อำนาจควบคุม

การดำเนินงานของ ธนาคารกลาง (Central Bank) จะเป็นการดำเนินงานผ่านนโยบายการเงินและมาตรการต่าง ๆ โดยจะไม่ทำธุรกรรมกับประชาชนโดยตรง แต่จะทำธุรกรรมเฉพาะกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การควบคุมเท่านั้น เทียบได้กับ ธนาคารกลาง คือ ธนาคารของธนาคารพาณิชย์

โดยส่วนใหญ่ธนาคารกลาง (Central Bank) จะเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากรัฐบาลและอิสระจากการเมือง แต่อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลจะไม่ได้มีอำนาจควบคุมธนาคารกลาง แต่ธนาคารยังคงมีสิทธิพิเศษและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ประเทศไทยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ธนาคารกลาง (Central Bank) คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand : BoT) หรือที่หลายคนอาจเรียกว่า “แบงค์ชาติ”

สำหรับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญทั่วโลกที่นักลงทุนควรติดตามการออกมาตรการต่าง ๆ ได้แก่

  • Bank of Japan (BoJ) – ญี่ปุ่น
  • Federal Reserve System (Fed) – สหรัฐอเมริกา
  • European Central Bank (ECB) – ประเทศกลุ่มยูโรโซน
  • Bank of England (BoE) – อังกฤษ
  • Deutsche Bundesbank – เยอรมัน
  • People’s Bank of China (PBoC) – จีน
  • Reserve Bank of Australia (RBA) – ออสเตรเลีย

หน้าที่ของธนาคารกลาง

ธนาคารกลางของแต่ละประเทศทั่วโลกจะมีหน้าที่หลักที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ (Monetary Policy) และกำกับดูแลสถาบันการเงินที่อยู่ในประเทศ

กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ (Monetary Policy) เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ ด้วยมาตรการทางการเงินต่าง ๆ เช่น การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate)

การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่อยู่ในประเทศ มีเป้าหมายในการคุ้มครองประชาชนจากสถาบันการเงิน ธนาคารกลางจะทำหน้าที่เป็นเหมือนตำรวจที่คอยคุมสถาบันการเงินด้วยการออกกฎต่าง ๆ เกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ ควบคุมการให้กู้ เงื่อนไขของสินเชื่อ ตลอดจนการสั่งปิดสถาบันการเงินหรือธนาคารที่มีความผิด

ติดตามเรา:

บทความโดย

แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ

เกี่ยวกับ: