เอลนีโญ ลานีญา สรุป กลไกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจแบบเข้าใจง่าย ๆ

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

เอลนีโญ ลานีญา สรุป คือ ปรากฎการณ์ El nino La nina ต่างกันอย่างไร

ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยภายนอกที่ธุรกิจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และสามารถเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรค โดยหนึ่งในปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่สำคัญในมุมมองของธุรกิจและการลงทุนคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ที่ส่งผลกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ซึ่งเป็นสินค้าระดับวัตถุดิบที่นำไปใช้ต่อยอดผลิตสินค้าส่วนใหญ่

ในบทความนี้ finvestory จะพาคุณไปทำความเข้าใจ เอลนีโญ ลานีญา สรุปแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่าเกิดขึ้นอย่างไร ตลอดจนผลกระทบที่ตามมาจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เพื่อให้คุณที่เป็นนักลงทุนและนักธุรกิจได้เข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

กลไกพื้นฐานที่ทำให้เกิด เอลนีโญ ลานีญา

เอลนีโญ ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกาใต้ ในแถบบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในแต่ละฝั่งแตกต่างกันไปตามปรากฏการณ์เอลนีโญหรือลานีญาที่กำลังเกิดขึ้น

ก่อนอื่น เรามาปูพื้นฐานเกี่ยวกับกระแสน้ำและกระแสลมที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกกันก่อน

ตามปกติในมหาสมุทรแปซิฟิกที่คั่นกลางระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา บริเวณเส้นศูนย์สูตรจะมีกระแสลมที่เรียกว่า “ลมค้า (Trade winds)” โดยพื้นฐานทิศทางของกระแสลมจะพัดจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ทวีปอเมริกาใต้) ไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อินโดนีเซียและออสเตรเลีย) ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของกระแสลมที่จะพัดจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูงและอุณหภูมิต่ำ ไปหาบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำและอุณหภูมิสูง

กระแสลมดังกล่าวจะส่งผลให้กระแสน้ำอุ่นจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีระดับน้ำสูงกว่าและมีอุณหภูมิที่สูงกว่าถูกพัดพาไปยังฝั่งตะวันตก ด้วยเหตุนี้จึงเกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พวกเราอาศัยอยู่

สีดำคือทิศทางลมตามปกติที่พัดจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก

แต่อย่างไรก็ตาม กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นดังกล่าวไม่ได้เคลื่อนที่ด้วยทิศทางดังกล่าวเพียงทิศทางเดียวตลอดไป แต่มีสิ่งที่ทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นเกิดความแปรปรวน คือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ และ ปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งนำไปสู่ภาวะแห้งแล้งและภาวะฝนตกมากกว่าปกติ

เอลนีโญ คืออะไร?

เอลนีโญ คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่กระแสลมมีกำลังอ่อนลงและเปลี่ยนทิศทางจากปกติ โดยพัดจากฝั่งตะวันตกของของมหาสมุทรแปฟิซิกไปสู่ฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิก ส่งผลให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากฝั่งทวีปเอเชียไปยังฝั่งทวีปอเมริกาใต้แทน

กระแสลมและทิศทางของกระแสน้ำจะส่งผลให้ผิวน้ำฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียอุณหภูมิลดลงทำให้ปริมาณน้ำที่ลอยขึ้นและกลายเป็นเมฆฝนในบริเวณดังกล่าวน้อยลง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาขาดฝนและเกิดความแห้งแล้งกว่าปกติ ตลอดจนลุกลามไปสู่ปัญหาไฟป่าในหลายประเทศ

ขณะที่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้จะมีปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการที่กระแสน้ำเย็นไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาบนผิวน้ำได้จะส่งผลให้แร่ธาตุอาหารต่าง ๆ สำหรับปลาและนกทะเลในบริเวณชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ลดลง

ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ

เอลนีโญเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาน้ำและสภาพอากาศ เมื่อปริมาณน้ำและสภาพอากาศอยู่ในภาวะที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลเสียต่อผลผลิตทางการเกษตรซึ่งนำไปสู่ปัญหาอุปทานสินค้าเกษตรที่ลดลงในขณะที่อุปสงค์ยังคงเดิมนำไปสู่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังต้นทุนของสินค้าที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ปศุสัตว์

ทำให้ในกรณีของเอลนีโญสิ่งที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดจากเอลนีโญจึงเป็นผลผลิตจากภาคการเกษตรในฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียที่ลดลงจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลงและอุณหภูมิสูงขึ้น

ประเด็นต่อมา คือ ปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่ต้องพึ่งพาการใช้น้ำ โดยเฉพาะในคลองที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ใช้เป็นทางลัดเพื่อย่นระยะทาง อย่างเช่น คลองปานามาที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ และคลองหยวนเหอของจีนที่เชื่อมระหว่างเทียนจินกับหางโจว ที่หากระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับที่สามารถใช้งานได้ การส่งสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวจะเกิดการชะงักงันซึ่งนำไปสู่ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น

ลานีญา คืออะไร?

ลานีญา คือ ปรากฏการณ์ที่กระแสลมพัดจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกในทิศทางเดิมตามปกติ เพียงแต่กระแสลมจะมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ส่งผลให้กระแสน้ำอุ่นถูกพัดไปสะสมฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียที่อุณหภูมิของผิวน้ำที่สูงอยู่แล้วสูงขึ้นอีก ทำให้ปริมาณน้ำที่ลอยขึ้นและกลายเป็นเมฆฝนในบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญามักจะมีฝนตกหนักมากกว่าปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านอุทกภัยที่เพิ่มขึ้นในบริเวณนี้

ในทางกลับกัน ที่ชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้การไหลขึ้นของน้ำเย็นระดับล่างไปสู่ผิวน้ำ (Upwelling) จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นทำให้อุณหภูมิผิวน้ำในบริเวณดังกล่าวลดลงต่ำกว่าปกติ ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญาทวีปอเมริกาใต้จึงมีฝนน้อยกว่าปกติและเกิดภาวะแห้งแล้งมากขึ้น

และนอกจากนั้น การที่น้ำเย็นใต้มหาสมุทรยกตัวขึ้นแทนที่กระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งซีกตะวันตก แร่ธาตุอาหารต่าง ๆ สำหรับปลาและนกทะเลในบริเวณชายฝั่งทวีปอเมริกาลอยขึ้นมาบนผิวน้ำมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา ฝูงปลาจะชุกชุมตามบริเวณชายฝั่งอเมริกาใต้

ผลกระทบของปรากฏการณ์ลานีญา

ผลกระทบของลานีญาเองก็จะไม่ต่างจากผลกระทบของเอลนีโญที่ส่งกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำและสภาพอากาศ เพียงแต่สลับฝั่งเป็นทวีปอเมริกาใต้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งส่งผลให้อุปทานสินค้าเกษตรที่สามารถผลิตได้ในแถบทวีปอเมริกาใต้ลดลงและนำไปสู่ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น

ประเด็นต่อมา คือ ปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่ต้องพึ่งพาการใช้น้ำ โดยเฉพาะในคลองที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ใช้เป็นทางลัดเพื่อย่นระยะทาง อย่างคลองปานามาที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ที่หากระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับที่สามารถใช้งานได้ การส่งสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวจะเกิดการชะงักงันซึ่งนำไปสู่ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น


สรุป เอลนีโญ ลานีญา ต่างกันอย่างไร?

จะเห็นว่าเอลนีโญและลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นขั้วตรงข้ามกันซึ่งเกิดขึ้นจากความแปรปรวนของกระแสลมและกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นแล้วหากเราสรุปผลกระทบเอลนีโญ ลานีญา เราจะพบว่าผลกระทบนั้นขึ้นกับว่าคุณอยู่ที่ไหนระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นผลกระทบในลักษณะคล้ายกันเพียงแต่เกิดขึ้นสลับกันระหว่าง 2 ฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก

เมื่อเกิดเอลนีโญจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักกว่าปกติในฝั่งทวีปอเมริกาใต้ แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเกิดความแห้งและอากาศร้อนที่ร้อนขึ้น ในขณะที่ลานีญาที่เป็นด้านตรงข้ามจะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้โดยเฉพาะทางตอนเหนือ และเกิดฝนตกหนักกว่าปกติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกี่ยวกับ:

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: