Zombie Company คือ บริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวในขณะที่บริษัทอยู่ในภาวะที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไรได้มากพอจะจ่ายหนี้ที่มีอยู่ได้ แต่ด้วยมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐทำให้ต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยในขณะนั้นอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้บริษัท Zombie Company เหล่านี้ยังไม่ล้มละลายเพราะยังพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้อยู่
บริษัทซอมบี้ หรือ Zombie Company เหล่านี้เป็นการเปรียบเปรยกับเหล่า Zombie (ซอมบี้) ที่อยู่ในหนังสยองขวัญ ที่แม้ว่าจะตายไปแล้วแต่ก็ยังลุกขึ้นมาไล่กันคนได้ด้วยเหตุผลบางอย่างตามแต่หนังจะอธิบาย ซึ่ง Zombie Company เองก็เป็นบริษัทที่เหมือนตายไปแล้วแต่ยังคงอยู่ได้เพราะดอกเบี้ยต่ำ และไล่กัดกินธุรกิจดี ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกบริษัทที่ขาดทุนจะนับว่าเป็น Zombie Company สิ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าบริษัทนั้นเป็น Zombie Company คือความสามารถในการทำกำไรในปัจจุบันและอนาคตของบริษัท
Zombie Company เกิดขึ้นจากอะไร
ตามปกติบริษัทที่ดีคือบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไร และในทางตรงกันข้ามบริษัทที่ไม่สามารถทำกำไรได้เมื่อถึงจุดที่ดำเนินงานต่อไม่ได้ก็จะต้องเลิกกิจการในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเลิกกิจการเองหรือล้มละลาย แต่สำหรับ Zombie Company คือ บริษัทที่อยู่รอดได้ทั้งที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไรและควรจะล้มละลายไปแล้วจากการที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้
ปัจจัยที่ทำให้ Zombie Company หรือบริษัทซอมบี้ยังคงอยู่รอดได้เป็นเพราะนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ทำให้ดอกเบี้ยต่ำบวกกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ทำให้ Zombie Company เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย โดยเฉพาะการสนับสนุนสภาพคล่องในวิกฤติผ่านการทำ QE ยิ่งทำให้บริษัทซอมบี้สามารถระดมเงินหลายแสนล้านดอลลาร์เพื่อชำระหนี้ซึ่งอาจทำให้บริษัทเหล่านี้มีเงินจ่ายดอกเบี้ยอยู่ได้อีกนานหลายเดือนหรือหลายปี
อีกสาเหตุหนึ่งคือการที่ส่วนใหญ่ Zombie Company เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่เกิดขึ้นตามกระแส ไม่มีนวัตกรรม บวกกับในตลาดมีบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันอยู่มาก แต่ที่สินค้าที่ขายกลับเป็นสินค้าที่เหมือนกัน ทำให้บริษัทเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การแข่งขันด้านราคาได้เพียงอย่างเดียว
เมื่อธุรกิจต้องตัดราคาเพื่อแข่งขันกันเองก็จะส่งผลให้กำไรและผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ บวกกับการที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางยิ่งทำให้การแข่งขันด้วยต้นทุนยิ่งทำได้ยากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนและมีความสามารถในการผลิตให้ได้ Economies of Scale
ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีกำไรที่ต่ำจนไม่สามารถเติบโตได้ในขณะที่มีสัดส่วนหนี้สินที่สูงมาก แต่ด้วยดอกเบี้ยและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ในยุคดอกเบี้ยต่ำจึงทำให้ Zombie Company เหล่านี้ยังคงสามารถจ่ายดอกเบี้ยและอยู่รอดต่อไปได้ หรือแม้แต่กู้เงินมากขึ้นเพื่อใช้คืนหนี้เก่า
ปัญหาจาก Zombie Company
ตามปกติแล้วการเปิดธุรกิจตาม ๆ กันแม้ว่าจะนำไปสู่การตัดราคากันจนธุรกิจขยายไปต่อไม่ได้เพราะสัดส่วนกำไรที่ลดลงเรื่อย ๆ จนบริษัทที่ไม่มีจุดแข็งต้องปิดตัวไปในที่สุด จนกว่าตลาดจะกลับเข้าสู่ดุลยภาพที่เหลือไว้เพียงบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง
แต่นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ทำให้ Zombie Company เหล่านี้ยังสามารถก่อหนี้ได้อยู่ และได้รับความช่วยเหลือไปด้วยจากดอกเบี้ยที่ต่ำ คือการทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินจากธุรกิจซ้ำ ๆ กันยังคงอยู่ นั่นหมายความว่าในอุตสาหกรรมที่แข่งกันตัดราคาการอยู่รอดของบริษัทเหล่านี้ก็จะทำให้การตัดราคาดำเนินต่อไป การมีตัวตนของ Zombie Company จึงทำให้ธุรกิจแบบเดียวกันแต่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอยู่รอดต่อไปได้ยากขึ้นไปอีก แทนที่ Zombie Company จะล้มหายตายจากไปแบบไม่สร้างภาระกับใคร
ปัจจุบันทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในขณะที่การจ้างงานต่ำหรือที่เรียกว่า Stagflation ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเมื่อก่อนหน้านี้ที่ใช้พยุงเศรษฐกิจเอาไว้และปัญหาเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเลิกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและหันไปขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อย่างเช่นธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 75 BPS หรือเพิ่มขึ้น 0.75% ในการขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ซึ่ง Fed เองก็สื่อสารชัดเจนว่าไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นหมายความว่าบริษัท Zombie Company ที่อยู่รอดมาได้ด้วยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ทำให้ดอกเบี้ยต่ำจะไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกต่อไป ผลลัพธ์สุดท้ายอาจเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่เราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
จากกราฟจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา High-yield bond ที่ออกโดยบริษัทที่มีความเสี่ยงสูงลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงปี 2021 เป็นผลมาจากการที่ผู้ให้กู้เริ่มไม่อยากให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง (Credit Rating ต่ำ) กู้อีกต่อไป เนื่องจากความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในช่วงที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อการควบคุ้มเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ แม้ว่าสถานการณ์โควิดทั่วโลกจะเริ่มคลี่คลายและค่อนข้างดีขึ้นมากในสหรัฐอเมริกา แต่ปริมาณของบริษัทที่เข้าข่ายเป็น Zombie Company ในสหรัฐฯ กลับยังคงสูงกว่าช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด บริษัทประมาณ 620 แห่งไม่ได้รับรายได้เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมา ลดลงจาก 695 เมื่อ 12 เดือนก่อน แต่ยังสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด ในขณะที่ผลกำไรของบริษัทในสหรัฐฯ ลดลงในไตรมาสแรกมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี เนื่องจากหลายบริษัทพยายามที่จะส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับวัสดุ การขนส่ง และแรงงานไปยังผู้บริโภคซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นตาม
โดย Bloomberg รายงานว่าปัจจุบันประมาณ 1 ใน 5 ของบริษัทจดทะเบียนมีฐานะเป็น Zombie Comapny ที่มีความสามารถในการสร้างรายได้ที่ไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งมูลค่าหนี้ของบริษัทเหล่านี้สูงถึง 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 31.5 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแม้ว่าดอกเบี้ยขาขึ้นจะทำให้ Zombie Company ล้มลงไปได้จริง แต่เงินเฟ้อเองก็ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ตกที่นั่งลำบากมากขึ้นเช่นกันส่วนนี้เองที่อาจจะทำให้เราได้เห็นซอมบี้ตัวใหม่เพิ่มขึ้นมาเท่าเดิมหรืออาจจะมากกว่าเดิมในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งนำเราไปสู่ปัญหาที่แท้จริงคือ Zombie Company ที่สะสมเอาไว้ล้มพร้อมกัน
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก:
- U.S. Zombie Firms: How Many and How Consequential? โดย Giovanni Favara, Camelia Minoiu, และ Ander Perez-Orive (Fed)
- Markets Highly indebted ‘zombie’ companies control more than 2 million U.S. jobs โดย CNBC
- Zombie Firms Face Slow Death in US as Era of Easy Credit Ends โดย Bloomberg