มาตรการเก็บ VAT สินค้านำเข้า คือ มาตรการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อในป้องกันการทุ่มตลาดสินค้ามูลค่าต่ำจากต่างประเทศที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด
โดยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 และออกประกาศกระทรวงการคลัง “เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท”1 ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 และมีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และหลังจากนั้นในปี 2568 เป็นต้นไปกรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาทเอง เนื่องจากระหว่างนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับการจัดเก็บ VAT สินค้านำเข้า
มาตรการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้า หรือ การเก็บ VAT สินค้านำเข้า ในระยะแรกจะให้กรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อนำส่งให้กรมสรรพากร (เหมือนกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ราคาเกิน 1,500 บาท ที่เก็บอยู่แล้วในปัจจุบัน)
ส่วนการเก็บ VAT สินค้านำเข้าในระยะถัดไปจะมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร และหารือกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์เป็นผู้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งสรรพากรโดยตรง
ตัวอย่างเช่น ถ้าหากสั่งซื้อสินค้า 100 บาท จะถูกเก็บภาษีเพิ่ม 7% หรือ 7 บาท ทำให้ผู้ซื้อชำระเงินรวมทั้งหมด 107 บาทในหน้าจ่ายเงิน ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาทนั้นผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์จะนำส่งให้กับกรมสรรพากร ซึ่งเราเรียกการจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้ว่า “การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านแพลตฟอร์ม (Vendor Collection Model)” ที่แพลตฟอร์มเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้รัฐ
และในส่วนของการเก็บ VAT สินค้านำเข้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ที่ไม่ได้นำเข้ามาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่นำเข้ามาทางหน้าด่านของกรมศุลกากร ก็จะต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่หน้าด่าน
สรุป เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับมาตรการ VAT สินค้านำเข้า ราคาต่ำกว่า 1500 บาท
- การเก็บ VAT สินค้านำเข้า จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท จากเดิมที่สินค้ากลุ่มนี้ไม่ต้องเสีย VAT มาโดยตลอด
- เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
- มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการทุ่มตลาดสินค้ามูลค่าต่ำของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากจีน
- มีผลทั้งสินค้าที่นำเข้าผ่านการสั่งซื้อออนไลน์และออฟไลน์ เริ่มต้นตั้งแต่สินค้าราคา 1 บาท
- เบื้องต้นส่งผลให้สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 จากต่างประเทศ ที่สั่งจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อย่างเช่น Lazada และ Shopee จะแพงขึ้น 7%
- สินค้านำเข้าที่มีราคา 1,500 บาท ไม่ได้รับผลอะไรจากมาตรการนี้ เพราะตามปกติต้องจ่ายภาษีศุลกากร และ/หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว
- ในระยะแรกให้กรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนำส่งให้กรมสรรพากร เหมือนกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ราคาเกิน 1,500 บาท
- ในระยะต่อไปจะมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร เพื่อให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์เป็นผู้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งสรรพากรโดยตรง
ทำไมต้องเก็บ VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำ
ตามปกติการสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาต่ำจะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรขาเข้าหรือภาษีนำเข้า เพราะเป็นสินค้าชิ้นเล็กที่เข้ามาจำนวนหลายสิบล้านชิ้นต่อวันจึงเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบสินค้าที่เข้ามาเป็นรายชิ้นอีกทั้งยังเป็นเรื่องยุ่งยากในการจัดการเกี่ยวกับภาษีของสินค้าชิ้นเล็กในลักษณะนี้
การยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาทในอดีตจึงเป็นสิ่งที่ลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ในขณะที่ผู้บริโภคอย่างเราจึงได้ประโยชน์ในแง่ของราคาที่ต่ำกว่าการซื้อสินค้าในประเทศจากผู้ขายที่จด VAT ถูกต้องซึ่งมี 7% รวมอยู่ในราคาสินค้ามาโดยตลอด
ยอดสินค้านําเข้าเกือบ 40 ล้านชิ้น เป็นสินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ถึงประมาณ 90% หรือประมาณ 36 ล้านชิ้น โดยมากจะเข้ามาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ผ่านไปรษณีย์ไทยส่วนหนึ่งประมาณ 10%
– นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช. คลัง
แต่ไม่ได้มีเพียงเราที่เป็นผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์จากการที่สินค้าราคาต่ำไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้า ยังมีผู้ขายจากต่างประเทศที่ขายสินค้ามูลค่าต่ำ (Low-Value Goods) ที่สามารถใช้ช่องว่างนี้ในการทุ่มตลาดด้วยสินค้าที่ราคาต่ำกว่าจริง หรือแจ้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าก็ตาม
การทุ่มตลาดด้วยช่องว่างดังกล่าวจึงส่งผลให้สินค้าในลักษณะเดียวกันจากผู้ประกอบการภายในประเทศไทยที่มีการจ่าย VAT อย่างถูกต้องสินค้าราคาแพงขึ้นประมาณ 7% ซึ่งการที่สินค้าราคาต่ำเหล่านี้สร้างความเหลื่มล้ำด้านราคา ผลกระทบต่อเนื่องอีกประการที่ตามมาคือสินค้าเหล่านี้มักเป็นสินค้าคุณภาพต่ำที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากจงใจผลิตออกมาให้มีคุณภาพต่ำเพื่อทำราคาให้ได้ต่ำที่สุดเพื่อทุ่มตลาด
อย่างไรก็ตาม หลังจากการบังคับใช้การเก็บภาษี VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท อีกสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นประเด็น คือการสำแดงราคาสินค้านำเข้าของผู้ประกอบการจากต่างประเทศว่าจะเป็นไปตามจริงหรือไม่
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการปรับปรุงกฎหมาย การนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เนื่องจากประมวลรัษฎากรได้มีการระบุเอาไว้ว่าให้ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้านำเข้าที่กรมศุลกากรยกเว้นอากรให้ และ “สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท” เองก็เป็นหนึ่งในรายการที่ได้รับยกเว้นอากรมาตั้งแต่ปี 2561 (เพิ่มขึ้นจาก 500 บาทที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2530) การที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำจึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อทำให้อัตราอากรที่ได้รับการยกเว้นต้องนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
สินค้าที่มีราคาสูงกว่า 1,500 จะไม่ต้องจ่ายภาษี VAT หรือเปล่า?
สินค้าที่มีราคาสูงกว่า 1,500 บาท ตามปกติสินค้าเหล่านี้โดยส่วนใหญ่จะต้องเสียภาษีนำเข้าหรือภาษีศุลกากรขาเข้า และแต่ละรายการอาจจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว (หรือแม้แต่มีเงื่อนไขในการขออนุญาตเพื่อนำเข้า) หากไม่ได้อยู่ในยกเว้นหรือเงื่อนไขบางประการตามประเภทของสินค้า
ทำให้สินค้าในส่วนที่มีราคาสูงและสูงมากไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับการเก็บ VAT สินค้านำเข้ามากนัก
ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?
ด้านผู้บริโภคที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทจะทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้แพงขึ้น 7% จากอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
ส่วนการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรจะเป็นหน้าที่ของแพลตฟอร์มออนไลน์
รู้หรือไม่! อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยอยู่ที่ 10% แต่ถูกลดลงชั่วคราวเหลือ 7% มาโดยตลอด
ข้อมูลอ้างอิง