ก.ล.ต. ออกประกาศรองรับเงื่อนไขใหม่ของกองทุน Thai ESG หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยผ่านกองทุน Thai ESG หรือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน โดยขยายวงเงินลดหย่อนภาษีเป็น 3 แสนบาทต่อคนต่อปี ลดระยะเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือ 5 ปี และขยายขอบเขตเงื่อนไขการลงทุนของกองทุน Thai ESG
ในส่วนของประกาศที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกองทุน Thai ESG ในครั้งนี้จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับในเดือนสิงหาคม 2567 โดยหลังจากมีผลบังคับใช้ผู้ที่ต้องการลงทุนที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหลังจากการแก้ไขเกณฑ์จะสามารถลงทุนได้ในกองทุน Thai ESG ที่มีอยู่แล้ว
โดยคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุน Thai ESG เพื่อรองรับมาตรการส่งเสริมการออมการลงทุนของภาครัฐ ในการประชุมครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 แบ่งเป็น 2 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้
- การขยายขอบเขตการลงทุน ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้
- กองทุนสามารถลงทุนในหุ้นที่มีมาตรฐาน ESG ตามการประเมินขององค์กรที่หลากหลายขึ้น เพิ่มเติมจากการอ้างอิง SET ESG ratings เพื่อเป็นทางเลือกให้บริษัทจัดการสามารถใช้อ้างอิงในการลงทุน ทั้งนี้ องค์กรดังกล่าวต้องมีมาตรฐานการประเมินที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- เพิ่มทางเลือกให้กองทุนสามารถลงทุนในหุ้นที่มีบรรษัทภิบาลในระดับดีเลิศ มีการเปิดเผยเป้าหมายและแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (corporate value up plan) มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผน มีแผนยกระดับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการสื่อสารการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวกับผู้ลงทุนอย่างน้อยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
- การเสริมสร้างบทบาทหน้าที่ของ บลจ. ในการจัดการกองทุน Thai ESG โดย บลจ. ต้องใช้ความระมัดระวัง รับผิดชอบเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน (fiduciary duty) ในการในการนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้พิจารณา ตั้งแต่การกำหนดนโยบายและกลยุทธ์การลงทุน การคัดเลือก และติดตามการลงทุนในกิจการที่มีคุณภาพ เพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน Thai ESG
ทั้งนี้ กองทุน Thai ESG ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยกองทุนนี้จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งและแก้ไขโครงการจาก ก.ล.ต. เช่นเดียวกับ SRI Fund ตลอดปี 2567 ด้วย
โดยหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) กำหนดให้ บลจ. ที่บริหารจัดการ SRI Fund ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้อย่างสะดวก และมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) โดย ก.ล.ต. ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบด้วยค่าธรรมเนียมคำขออนุมัติจัดตั้ง 100,000 บาท ต่อกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมคำขอแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวม ไม่เกิน 5,000 บาท ต่อกองทุนรวม สำหรับคำขอที่ยื่นระหว่างปี 2567
เงื่อนไขลดหย่อนภาษี Thai ESG แบบใหม่
วงเงินการลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน Thai ESG จากเดิมที่ลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท/คน/ปี เพิ่มเป็น 300,000 บาท/คน/ปี แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569
ปรับลดระยะเวลาถือครองเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเดิมที่จะต้องถือครองไม่น้อยกว่า 8 ปี ลดลงเหลือถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยจะใช้วิธีนับระยะเวลาการถือครองแบบวันชนวันเหมือนเดิม (เริ่มนับจากวันที่ซื้อ)
หมายเหตุ: วงเงินลดหย่อนภาษี Thai ESG ในส่วน 300,000 บาทนี้ จะไม่รวมอยู่ในวงเงิน 500,000 บาทของมาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อ SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันบำนาญ, กองทุนสงเคราะห์ครู, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, และกองทุนการออมแห่งชาติ
ขยายขอบเขตการลงทุน
ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นหุ้นของบริษัทที่มีความโดดเด่นในด้านสิ่งแวดล้อม (E) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) ที่ถูกคัดเลือกโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกต่อไป
ขยายให้รวมถึงหุ้นที่บรรษัทภิบาลในระดับดีเลิศ เปิดเผยเป้าหมาย และแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (Corporate Value Up Plan) มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผน และเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับผู้ลงทุน
อ้างอิงจาก ข่าว ก.ล.ต. วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2567 | ฉบับที่ 156 / 2567 ก.ล.ต. ออกประกาศรองรับเงื่อนไขใหม่ของกองทุน Thai ESG โดยขยายขอบเขตการลงทุน และส่งเสริมบทบาท บลจ. ในการใช้ fiduciary duty