ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly)

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

ตลาดผู้ขายน้อยราย คือ ตัวอย่าง Oligopoly มีอะไรบ้าง

ตลาดผู้ขายน้อยราย คือ ตลาดที่มีผู้ขายน้อยรายควบคุมส่วนแบ่งทางการตลาดส่วนใหญ่ในสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันหรือแตกต่างกันเล็กน้อยในอุตสาหกรรมที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสูง หากผู้ขายรายใดปรับราคาหรือปริมาณการผลิตจะส่งผลเชิงกลยุทธ์กับผู้ขายรายอื่นในตลาด

ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) เป็นตลาดที่มีลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกับตลาดผูกขาด (Monopoly) เพียงแต่ตลาดผู้ขายน้อยรายจะมีผู้แข่งขันในตลาดมากกว่า 1 ราย ซึ่งตลาดผู้ขายน้อยรายจะมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันตามจำนวนผู้แข่งขันรายใหญ่ภายในตลาด ตลาดผู้ขายน้อยรายที่มีผู้แข่งขัน 2 รายจะเรียกว่า Duopoly และตลาดผู้ขายน้อยรายที่ผู้แข่งขัน 3 รายจะเรียกว่า Triopoly

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ของตลาดผู้ขายน้อยรายทำให้ราคาของสินค้าในตลาดลักษณะนี้มักจะมีราคาที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก เพราะแม้ว่าผู้ขายในตลาดผู้ขายน้อยรายจะมีอำนาจเหนือตลาดในการตั้งราคาสินค้าคล้ายกับตลาดผูกขาด แต่การปรับราคาสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการดำเนินกลยุทธ์ด้านราคาจะส่งผลระหว่างผู้แข่งขันในตลาดจนทำให้ต้องปรับราคาสินค้าตามกันในท้ายที่สุด

ลักษณะของตลาดผู้ขายน้อยราย

ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) เป็นตลาดประเภทหนึ่งของตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect Competition) โดยลักษณะของตลาดผู้ขายน้อยรายจะอยู่บนเงื่อนไขดังต่อไปนี้

มีผู้แข่งขันขนาดใหญ่เพียงไม่กี่รายควบคุมตลาด – ตลาดผู้ขายน้อยรายเป็นตลาดที่มักจะถูกครอบงำด้วยผู้แข่งขันที่เป็นบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งผู้แข่งขันรายใหญ่เหล่านี้เพียงไม่กี่รายมักจะมีส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ที่สูงกว่า 50% ของมูลค่าตลาดโดยรวม และอาจสูงได้ถึง 70% ถึง 90% ในบางกรณี

ผู้แข่งขันขายสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการหรือแตกต่างกันเล็กน้อย และเป็นสินค้าที่หาสินค้าอื่นทดแทนได้ยาก – ส่งผลให้ผู้บริโภคจำเป็นที่จะต้องซื้อสินค้าจากผู้ขายรายใดรายหนึ่งในตลาดผู้ขายน้อยราย

มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสูง – ทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้แข่งขันรายใหม่จะสามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อมาแข่งขันในตลาดผู้ขายน้อยราย ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดจากค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจที่สูง สิทธิบัตร สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นแต่เพียงผู้เดียว กฎระเบียบที่เข้มงวดของรัฐบาลในการประกอบธุรกิจ หรือความสามารถในการใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ที่ผู้แข่งขันหน้าใหม่ไม่มีทางตามได้ทัน

การดำเนินกลยุทธ์ของแต่ผู้แข่งขันจะส่งผลกระทบระหว่างกัน – สมมติว่า บริษัท A ดำเนินกลยุทธ์แย่งส่วนแบ่งตลาดด้วยการลดราคา บริษัท B ก็จะดำเนินกลยุทธ์เดียวกันตอบโต้เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ ทำให้ท้ายที่สุดผู้ที่เริ่มการลดราคาจะไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกจากกำไรที่ลดลงในท้ายที่สุด ส่งผลให้ผู้แข่งขันในตลาดผู้ขายน้อยรายมักจะใช้วิธีการแข่งขันที่สอดคล้องกับคู่แข่งในตลาด

ความแข็งแกร่งของราคา (Price Rigidity) อยู่ในระดับที่สูง – หมายความว่า ราคาสินค้าในตลาดผู้ขายน้อยรายจะไม่เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้แข่งขันต่างฝ่ายต่างเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการใช้กลยุทธ์ที่นำไปสู่สงครามราคา (Price War) จากการที่การดำเนินกลยุทธ์ของแต่ผู้แข่งขันจะส่งผลกระทบระหว่างกัน โดยผู้แข่งขันในตลาดผู้ขายน้อยรายจะมุ่งไปที่การแข่งขันอื่นที่ไม่ใช่การแข่งขันด้านราคาแทน ไม่ว่าจะเป็น การคิดค้นนวัตกรรม คุณภาพการให้บริการ และคุณภาพของตัวสินค้าและบริการ เป็นต้น

ผู้แข่งขันสามารถเลือกที่จะร่วมมือกันเองได้ – แน่นอนว่าตลาดที่มีผู้แข่งขันเพียงไม่กี่ราย (และมักจะเป็น 2-3 ราย) ในขณะที่ผู้แข่งขันเหล่านี้ควบคุมส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบทั้งตลาดและการดำเนินกลยุทธ์ของพวกเขาส่งผลระหว่างกัน การร่วมมือกันระหว่างผู้แข่งขันในการกำหนดราคาหรือระดับการผลิตเพื่อผลกำไรที่สูงขึ้นย่อมเกิดขึ้นได้ และนำไปสู่ราคาที่สูงขึ้นที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในการซื้อสินค้า

ตัวอย่าง ตลาดผู้ขายน้อยราย

เมื่อพูดถึงตลาดผู้ขายน้อยรายตัวอย่างสินค้าหรือบริการที่มักจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นตลาดผู้ขายน้อยรายมักจะได้แก่ ธุรกิจสายการบิน เครือข่ายอินเตอร์เน็ต เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ น้ำมันดิบ โรงภาพยนตร์ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก ผู้ผลิตรถยนต์ ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และซุปเปอร์มาร์เก็ต

อย่างในประเทศไทยเอง ธุรกิจที่มีลักษณะเป็นตลาดผู้ขายน้อยรายที่ชัดเจนอย่างมากคือ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่ปัจจุบัน AIS และ True เป็นผู้แข่งขันรายใหญ่ที่ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดของตลาดเอาไว้เกือบทั้งหมด และผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ปัจจุบันมีเพียง AIS ที่เข้าซื้อ 3BB และ True เป็นผู้แข่งขันรายใหญ่ในตลาด

นอกจากนี้ ธุรกิจธนาคารในไทยที่ดูเหมือนไม่ใช่ตลาดผู้ขายน้อยรายจากการที่ในประเทศไทยมีธนาคารให้เลือกใช้ไม่น้อย (แม้จะไม่เท่าในหลายประเทศ) แต่เมื่อเราพิจารณามูลค่าของธนาคารพาณิชย์ 6 ธนาคารที่เป็นผู้แข่งขันรายใหญ่ชื่อดังจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดมากกว่า 20 ธนาคารที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทย เราจะพบว่าธนาคารรายใหญ่ทั้ง 6 ธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่า 90% เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวม

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Series ทำความเข้าใจ “ตลาด” ในทางเศรษฐศาสตร์ ยังมีอีก 3 บทความที่เกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ

เกี่ยวกับ:

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: