ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด คือ ตลาดที่มีผู้ขายจำนวนมากขายสินค้าที่มีลักษณะไม่ต่างกันมากและสามารถใช้ทดแทนกันได้ ส่งผลให้ผู้ที่แข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีลักษณะตลาดแบบกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดจะสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตนด้วยการตั้งราคาและกลยุทธ์ทางการตลาด
ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) เป็นรูปแบบหนึ่งของตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ที่มีความใกล้เคียงกับรูปแบบของตลาดทั่วไปในชีวิตจริงมากที่สุด ที่ตามปกติไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่มีความใกล้เคียงกันมากเพียงใดก็จะมีความแตกต่างกันอยู่เสมอ ไม่สามารถเหมือนกันได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนกับตลาดแข่งขันสมบูรณ์
เมื่อพิจารณายางรถยนต์ที่แม้ว่าจะเป็นยางรถยนต์รุ่นที่จัดอยู่ในระดับเดียวกันด้วยเกณฑ์บางประการ เราจะพบว่ายางรถยนต์แต่ละแบรนด์ที่อยู่ในระดับเดียวกันจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันเสมอ ทั้งด้านอายุการใช้งาน คุณลักษณะพิเศษบางประการ บริการหลังการขาย และชื่อเสียงของแบรนด์ที่ทำให้ราคาต่างกัน และด้วยข้อแตกต่างของคุณลักษณะเหล่านี้จะทำให้ผู้ขายในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าที่มีลักษณะเดียวกันเหล่านี้อยู่ในระดับหนึ่ง
โดยสินค้าที่มักจะอยู่ในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดมักจะเป็นสินค้าทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า เครื่องดื่ม ร้านอาหาร เครื่องสำอาง ขนม น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย และสินค้าที่เรามักจะเห็นการแข่งขันด้วยราคา การโฆษณา การสร้างแบรนด์ และการส่งเสริมการขายรูปแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) เราจะพบว่าการดำเนินกลยุทธ์ของผู้แข่งขันในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดจะไม่กระทบผู้แข่งขันรายอื่นที่จะกลับมาส่งผลเสียกับผู้เริ่มดำเนินกลยุทธ์ในการแข่งขัน
ลักษณะตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด
ลักษณะสำคัญของตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดมีลักษณะที่ทับซ้อนกันระหว่างตลาดผูกขาด (Monopoly) และตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) ซึ่งได้แก่
ในตลาดมีผู้ขายอยู่เป็นจำนวนมาก – ตามจำนวนบริษัทที่มีอยู่มากมายในตลาดที่เสนอขายสินค้าแบบเดียวกันที่มีความแตกต่างกันด้านราคาและกลยุทธ์ทางการตลาด ดังนั้นแม้ว่าในตลาดมีผู้ขายอยู่เป็นจำนวนมากคล้ายกับตลาดแข่งขันสมบูรณ์ แต่ผู้ขายในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดจะยังมีอำนาจในการตั้งราคาอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มากเท่ากับผู้ขายในตลาดแข่งขันสมบูรณ์
ผู้ขายสามารถเข้าและออกตลาดได้อย่างเสรี – เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้แข่งขันรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดหรือออกจากตลาดเมื่อต้องการโดยไม่มีอะไรกีดกัน โดยทั่วไปผู้แข่งขันหน้าใหม่จะเข้าสู่ตลาดเมื่อเห็นว่าอุตสาหกรรมนั้นทำกำไรได้สูง และออกจากตลาดเมื่อมองว่าอุตสาหกรรมนั้นไม่น่าสนใจอีกแล้วหรือขาดทุน
สินค้ามีลักษณะไม่แตกต่างกันมากและสามารถใช้ทดแทนกันได้ – สินค้าจะแตกต่างกันที่คุณลักษณะเพียงเล็กน้อย เช่น แบรนด์ การทำงานบางประการที่ผู้ผลิตเพิ่มเติมเข้ามา อายุการใช้งาน และบริการหลังการขาย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ให้อำนาจผู้ขายในการตั้งราคาสินค้าเหนือตลาดในระดับหนึ่ง ทั้งนี้หากตั้งราคาที่สูงมากเกินไปผู้ซื้อจะหันไปใช้สินค้าที่ใกล้เคียงกันของผู้ขายอื่นแทน
ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ – เป็นเหตุจากความไม่เท่ากันของข้อมูลของแต่ละฝ่าย ซึ่งส่งผลให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายยากที่จะตัดสินใจอย่างรอบคอบและเหมาะสมในการซื้อขายสินค้า หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพจากกรณีของยางรถยนต์เมื่อตอนต้น เราจะพบว่าสุดท้ายแล้วเราที่ถ้าหากไม่ใช่ผู้เชียวชาญไม่มีทางรู้ข้อมูลความแตกต่างระหว่างยางรถยนต์ที่เป็นตัวเลือก จากการที่ผู้ขายให้ข้อมูลไม่ครบหรือความสำคัญผิดคิดว่าตัวเองรู้มากพอก็ตาม
การแข่งขันที่ไม่ใช่ราคา – แม้ว่าผู้ขายจะมีอำนาจในการกำหนดราคา แต่การแข่งขันจะมุ่งไปที่การใช้กลยุทธ์อื่น ๆ ในการแข่งขันตามที่ได้ยกตัวอย่างในข้างต้น เนื่องจากการดำเนินกลยุทธ์ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้แข่งขันมากนัก
อำนาจของผู้ขายเมื่อเทียบกับตลาดอื่น
ลักษณะสำคัญของตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดอยู่ที่อำนาจของผู้ขายเมื่อเทียบกับตลาดในรูปแบบอื่น ๆ ที่ในระยะสั้นผู้ขายจะมีอำนาจเหนือตลาดในการตั้งราคาจนกว่าจะต้องแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นที่เสนอขายสินค้าที่คล้ายกัน นั่นหมายถึงการที่ผู้ผลิตในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าหรือบริการของตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและสร้างกำไรต่อไปเรื่อย ๆ ในระยะยาว
หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้น การพัฒนาสินค้าให้แตกต่างจะช่วยให้ผู้แข่งขันมีความได้เปรียบเหนือตลาด คล้ายกับการผูกขาดไปจนกว่าจะถูกทำตามโดยคู่แข่งรายอื่น ๆ
ด้วยการแข่งขันภายในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดลักษณะนี้ ส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดมักจะมีแนวโน้มที่สูงกว่าราคาสินค้าในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ แต่มีราคาต่ำกว่าราคาสินค้าในตลาดผูกขาด
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Series ทำความเข้าใจ “ตลาด” ในทางเศรษฐศาสตร์ ยังมีอีก 3 บทความที่เกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ