ตลาดผูกขาด (Monopoly)

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

ตลาดผูกขาด คือ ตัวอย่าง มีอะไรบ้าง Monopoly Market

ตลาดผูกขาด คือ รูปแบบของตลาดที่ทั้งตลาดมีผู้ขายอยู่เพียงรายเดียวซึ่งขายสินค้าที่หาสินค้าทดแทนได้ยาก ในขณะที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสำหรับผู้แข่งขันรายใหม่ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ขายที่เป็นผู้ผูกขาดมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าเหนือตลาด

การผูกขาดที่เกิดขึ้นในตลาดผูกขาดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยและเกิดขึ้นได้มากกว่าจากหนึ่งปัจจัยพร้อมกัน เช่น การประหยัดต่อขนาดที่มากกว่าของผู้ผูกขาดที่ทำให้ผู้แข่งขันรายใหม่ไม่สามารถแข่งขันได้ การถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ตลอดจนอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่สูงเกินไป หรือแม้กระทั่งการที่ผู้ผูกขาดใช้ความได้เปรียบเหล่านี้ในการกีดกันเพื่อเป็นอุปสรรคผู้แข่งขันรายใหม่

ในตลาดผูกขาด (Monopoly) ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกที่จำกัดมากหรือไม่มีทางเลือกอื่นเลย และต้องยอมจ่ายเงินในราคาตามที่ผู้ผูกขาดกำหนด ทำให้ตลาดผูกขาดเป็นด้านตรงข้ามของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) อย่างสิ้นเชิง ซึ่งเรียกว่า “ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect Competition)”

การผูกขาดโดยทั่วไปมักจะเป็นสิ่งที่เป็นผลเชิงลบต่อผู้บริโภคจากราคาสินค้าหรือบริการที่ถูกผูกขาดจะอยู่ในระดับที่สูงตามที่ผู้ผูกขาดต้องการ ในขณะที่คุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ถูกผูกขาดอาจลดลงหรือขาดต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เนื่องจากการจะขาดแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เนื่องจากผู้ผูกขาดไม่ได้มีความจะเป็นที่จะต้องแข่งขัน

ทั้งนี้ การผูกขาดจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่และมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่า สินค้าหรือบริการที่ถูกผูกขาดคือสินค้าประเภทใดและมีความจำเป็นต่อประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ หากการผูกขาดเกิดขึ้นในสินค้าที่จำเป็นสำหรับประชาชนทั่วไป อย่างเช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ขนส่งสาธารณะ และสินค่าเพื่อการดำรงชีวิตพื้นฐานต่าง ๆ ย่อมทำให้ค่าครองชีพของประชาชนทั่วไปสูงขึ้นและส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ด้วยเหตุนี้ในตลาดผูกขาดของสินค้าหรือบริการบางประเภทรัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้มีราคาที่สูงกว่าต้นทุนมากเกินไป หรือแม้แต่การทำลายการผูกขาดในอุตสาหกรรมดังกล่าว (ถ้าสามารถทำได้) เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากการผูกขาด

ลักษณะของตลาดผูกขาด

ตลาดผูกขาด (Monopoly Market) ในภาพรวมเป็นรูปแบบตลาดที่อยู่ตรงข้ามกับตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการอธิบายลักษณะของตลาดผูกขาดหากอ้างอิงจากตลาดแข่งขันสมบูรณ์จะเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เห็นภาพได้ง่ายที่สุดว่าตลาดหรือธุรกิจที่มีลักษณะแบบใดจึงจะสามารถผูกขาดได้ ซึ่งโดยทั่วไปทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จะอธิบายลักษณะของตลาดผูกขาดด้วยเงื่อนไขดังนี้

ผู้ขายรายเดียวในตลาด (Monopolist) – เนื่องจากเป็นผู้ขายเพียงรายเดียวในตลาดจึงทำให้ผู้ขายที่เป็นผู้ผลิตมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในการที่จะผลิตหรือไม่ผลิตสินค้าออกมาขาย อีกทั้งยังสามารถกำหนดราคาเพื่อสร้างกำไรสูงสุดได้ตามต้องการจากการขายสินค้า (จุดที่สร้างกำไรได้สูงสุด ≠ ไม่ใช่การขายด้วยการตั้งราคาสูงสุด)

ลักษณะสินค้าเป็นสินค้าที่หาสินค้าทดแทนได้ยากหรือไม่สามารถหาสินค้าทดแทนได้ – เมื่อผู้บริโภคต้องการจำเป็นที่จะต้องซื้อจากผู้ผูกขาดที่เป็นผู้ขายรายเดียวในตลาดเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้รวมถึงการที่มีสินค้าทดแทนแต่การซื้อสินค้าทดแทนทำให้เกิดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายและ/หรือต้นทุนทางธุรกรรมที่ทำให้สุดท้ายการซื้อจากผู้ผูกขาดถูกกว่าด้วยเช่นกัน

มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) – จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้แข่งขันรายใหม่จะสามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อมาแข่งขันกับผู้ขายรายเดียวที่มีอยู่ตลาดได้ง่าย โดยอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดอาจเป็นค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจที่สูง สิทธิบัตร สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นแต่เพียงผู้เดียว และกฎระเบียบที่เข้มงวดของรัฐบาลในการประกอบธุรกิจ

เป็นตลาดที่มีผู้ผูกขาดเป็นผู้กำหนดราคา – ซึ่งอำนาจในการกำหนดราคาของผู้ผูกขาดมาจากเงื่อนไขในการแข่งขันจากข้างต้นที่ทำให้พวกเขาสามารถกำหนดราคาได้ตามที่ต้องการ และเลือกราคาได้จนกว่าพวกเขาจะต้องการเปลี่ยนแปลงราคา

ประเภทของตลาดผูกขาด

แม้ว่าการพูดถึงตลาดผูกขาดและการผูกขาดมักจะกล่าวถึงในบริบทของการที่ทั้งตลาดมีผู้ขายเพียงรายเดียวอยู่ในตลาดนั้น ๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วตลาดผูกขาดยังสามารถแบ่งเป็นประเภทย่อยตามลักษณะของการผูกขาด ได้ดังนี้

การผูกขาดโดยสมบูรณ์ (Pure Monopoly) คือตลาดผูกขาดที่มีผู้ผูกขาดเพียงรายเดียวในสินค้าหรือบริการประเภทดังกล่าวจากเงื่อนไขของตลาดผูกขาดตามที่ได้อธิบายในบทความนี้

การแข่งขันแบบผูกขาด (Monopolistic Competition) คือตลาดที่มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับตลาดผูกขาดโดยสมบูรณ์ แต่มีผู้แข่งขันมากกว่า 1 รายที่มีสินค้าทดแทนคล้ายกันแต่สินค้าทดแทนไม่สามารถทดแทนกันได้อย่างสิ้นเชิง (Imperfect Substitutes) อย่างเช่น Visa กับ MasterCard เรียกว่า ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด

การผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) คือการผูกขาดที่เกิดจากการที่โครงสร้างตลาดในรูปแบบการผูกขาดเหมาะสมกว่า จึงทำให้การผูกขาดเป็นสิ่งที่จำเป็นกับอุตสาหกรรมดังกล่าว

การผูกขาดสาธารณะ (Public Monopolies) คือการผูกขาดสินค้าสาธารณะโดยรัฐบาลให้มีผู้แข่งขันเพียงรายเดียวในการดูแลอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อที่ภาครัฐจะสามารถเข้าควบคุมอุตสาหกรรมดังกล่าวได้อย่างเข้มงวด พบได้บ่อยในสินค้าสาธารณูปโภค

การผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly)

การผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) คือ การผูกขาดที่เกิดขึ้นจากการที่โครงสร้างตลาดในลักษณะผูกขาดเหมาะสมกว่าหรือหลีกลี่ยงไม่ได้ในบางอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้การผูกขาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอุตสาหกรรมดังกล่าว

โดยทั่วไปการผูกขาดโดยธรรมชาตินี้จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนอย่างมหาศาลแต่มีผลตอบแทนที่ไม่สูงนั้น ในขณะที่เป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นแล้วการจะดำเนินธุรกิจได้จำเป็นที่จะต้องลดต้นทุนด้วยการขยายธุรกิจให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) เพื่อทำกำไรให้มากพอที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ ซึ่งการที่จะขยายบางธุรกิจที่อยู่บนเงื่อนไขข้างต้นให้เติบโตได้ในระดับนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องผูกขาดเพื่ออำนวยความสะดวกจากการไม่ต้องแข่งขัน

อุตสาหกรรมที่มักมีการผูกขาดโดยธรรมชาติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ธุรกิจที่มีต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาและความเฉพาะทางสูง ธุรกิจที่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่และอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองของสิทธิบัตรซึ่งทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ตกเป็นสาธารณะ ตัวอย่างเช่น การไฟฟ้า น้ำประปา ขนส่งสาธารณะ ธุรกิจกระจายพลังงาน การกระจายก๊าซธรรมชาติ และบริษัทยา เป็นต้น

ด้วยการที่หลายประเทศไม่สามารถจัดการปัญหาของการผูกขาดโดยธรรมชาติได้ ประเทศเหล่านั้นจึงเลือกที่จะคสบคุมไม่ให้มีการแข่งขันในธุรกิจลักษณะนี้เพื่อป้องกันการใช้ต้นทุนโดยรวมทางเศรษฐกิจที่เสียไปในการแข่งขันที่ยากที่จะเป็นประโยชน์เหล่านี้ อย่างในธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การมีเพียงบริษัทท่อส่งก๊าซเพียงแห่งเดียวลงทุนทำท่อส่งก๊าซขนาดใหญ่เพียงท่อเดียวที่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติได้เท่ากับ 3 ท่อของ 3 บริษัทย่อมใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการปล่อยให้ 3 บริษัทแข่งขันกันโดยไม่เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยให้ต้นทุนโดยรวมในการส่งก๊าซธรรมชาติปริมาณเท่ากัน (สมมติว่าหน่วยเป็น 3 ท่อ) ต่ำกว่ามาก

ข้อดีและข้อเสียของตลาดผูกขาด

ข้อเสียของตลาดผูกขาดคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ผูกขาดเพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ครอบงำตลาดของอุตสาหกรรมดังกล่าว สามารถใช้ข้อได้เปรียบที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาตามต้องการ การสร้างการขาดแคลนเทียม (Artificial Scarcity) การขาดการพัฒนา ตลอดจนการจงใจผลิตสินค้าคุณภาพต่ำ ในขณะที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น ต้องเชื่อใจผู้ผลิตและยอมจ่ายเงินในราคาตามที่กำหนด

ข้อดีของตลาดผูกขาดคือการที่เมื่อมีผู้ผลิตเพียงผู้เดียวจะทำให้ผู้ผูกขาดสามารถสร้างการประหยัดต่อขนาดจากการผลิตสินค้าปริมาณมากได้อย่างเต็มที่เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยให้ต่ำลง ซึ่งช่วยให้ราคามีความสม่ำเสมอจากการที่ผูกขาดสามารถกำหนดและรักษาราคาให้สม่ำเสมอได้ นอกจากนั้นในแง่ของการลงทุนพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ยังสามารถทำได้อย่างปลอดภัยและไม่ต้องกังวลกับการแข่งขันซึ่งส่งผลให้สามารถวิจัยและพัฒนาได้อย่างเต็มที่

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Series ทำความเข้าใจ “ตลาด” ในทางเศรษฐศาสตร์ ยังมีอีก 3 บทความที่เกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ

เกี่ยวกับ:

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: