• Post category:Economics

Yield Curve Control คือ มาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของธนาคารกลางด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว โดยการทำ Yield Curve Control (YCC) จะเริ่มจากกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ต้องการ จากนั้นธนาคารกลางจะเข้าซื้อพันธบัตรรุ่นดังกล่าวจนกว่าจะกดให้ Bond Yield พันธบัตรดังกล่าวลดลงเหลือตามเป้าหมาย

มาตรการ Yield Curve Control คือ มาตรการมีเป้าหมายในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยาวเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวของภาคธุรกิจ เพราะอัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับลดลงตามผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่อายุเท่า ๆ กัน

อธิบายอย่างง่าย Yield Curve Control หรือ YCC คือ การที่ธนาคารกลางตั้งเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (หรือระยะกลาง หรือระยะที่ต้องการ) แล้วซื้อพันธบัตรอายุที่ต้องการควบคุมผลตอบแทนไปเรื่อย ๆ จนกว่าผลตอบแทนจะลดลงถึงเป้าหมาย เพื่อควบคุม Yield Curve ให้เป็นไปตามที่ต้องการ

Yield Curve Control ถูกใช้ครั้งแรกโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 เพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีให้อยู่ที่ระดับ 0%

Yield Curve Control ทำงานอย่างไร

มาตรการ Yield Curve Control (YCC) จะเริ่มต้นจากการที่ธนาคารกลาง (Central Bank) กำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของพันธบัตรอายุที่ต้องการเข้าไปควบคุม จากนั้นธนาคารกลางจะเข้าซื้อพันธบัตรอายุดังกล่าวไปเรื่อย ๆ เท่าที่จำเป็นต้องซื้อ จนกว่าจะกดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ให้เป็นไปตามเป้า

ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia : RBA) ประกาศทำ Yield Curve Control เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 โดยมีเป้าหมายในการกดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีให้อยู่ที่ 0.25% ในวงเงินสูงสุด 5,200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

กราฟ Yield Curve Control คือ อะไร มาตรการ YCC ทำอย่างไร
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลียอายุ 3 ปี หลังทำ Yield Curve Control ในปี 2020

ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ก็จะซื้อพันธบัตรอายุ 3 ปีไปเรื่อย ๆ จนกว่า Bond Yield ของพันธบัตรรุ่นดังกล่าวจะลดลงเหลือ 0.25% ตามเป้า แต่อย่างไรก็ตามธนาคารกลางออสเตรเลียใช้เงินเพียง 1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเท่านั้นในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกดผลตอบแทนให้เหลือ 0.25% ตามเป้าหมาย

เป้าหมายของ Yield Curve Control

เป้าหมายของ Yield Curve Control คือ การควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุที่ต้องการโดยการกดอัตราผลตอบแทนลงตามที่ต้องการด้วยกลไกที่ได้อธิบายในตอนต้น เมื่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลลดลงก็จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงผลตอบแทนของตราสารหนี้อื่น ๆ ที่อายุใกล้เคียงกันให้ลดลงด้วย

อย่างในกรณีของการทำ Yield Curve Control (YCC) ของญี่ปุ่นและออสเตรเลียมีเป้าหมายคือการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวให้ลดลงเพื่อทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวลดลงตาม เพื่อทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวลดลงเพื่อลดต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจลงโดยที่ไม่ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

การใช้มาตรการ Yield Curve Control และมาตรการที่มีเป้าหมายในการกด Bond Yield จะเกิดขึ้นในช่วงที่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถทำได้หรือทำได้แต่แทบจะไม่มีผล เพราะการลดดอกเบี้ยจะส่งผลกับดอกเบี้ยระยะสั้นและแทบจะไม่ส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว

อย่างเหตุผลที่ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เลือกทำ YCC มาจากการที่ขณะนั้นญี่ปุ่นใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบอยู่แล้ว ทำให้ลดดอกเบี้ยลงไปไม่ได้มากกว่านี้แล้วเพราะจะกระทบไปถึงรายได้ของธนาคารซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทนรับหนี้เสีย (NPL) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

YCC กับ QE ต่างกันอย่างไร

มาตรการ Yield Curve Control (YCC) เป็นมาตรการที่มีกลไกที่แทบจะไม่ต่างกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) หรือมาตรการ QE จากการที่เป็นการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยมีเป้าหมายเป็นการกด Bond Yield ให้ต่ำลง อย่างไรก็ตาม Yield Curve Control กับ QE ไม่ใช่เรื่องเดียวกันและมีแนวทางในการปฏิบัติที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร

การทำ Yield Curve Control ธนาคารกลางจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุที่ต้องการกดผลตอบแทนไปเรื่อย ๆ เพื่อกดผลตอบแทนพันธบัตรให้ลดลงตามเป้าหมาย ส่งผลให้จำนวนเงินที่ใช้ในการทำ YCC อาจมากหรือน้อยก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะกดดอกเบี้ยลงตามเป้าหมายได้ด้วยเงินมากเท่าไหร่

ในขณะที่มาตรการ QE จะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามปริมาณที่ระบุไว้ไปเรื่อย ๆ ภายในกรอบระยะเวลาที่ธนาคารกลางกำหนด โดยเป้าหมายคือการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่งผลให้งบดุลของธนาคารกลาง (Fed Balance Sheet) ในการทำ QE จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนที่แน่นอน ในขณะที่ Yield Curve Control อาจใช้เงินน้อยกว่า (ซึ่งที่ผ่านมามักจะใช้เงินไม่ถึงวงเงินที่ตั้งไว้) อย่างที่เกิดขึ้นกับธนาคารกลางญี่ปุ่นในปี 2559

ความเสี่ยงของ Yield Curve Control

ความเสี่ยงของ Yield Curve Control คือ ถ้านักลงทุนไม่เชื่อมั่นและมองว่าธนาคารจะไม่สามารถควบคุมดอกเบี้ยระยาวได้ตามที่ประกาศ นักลงทุนก็จะเทขายพันธบัตรออกมาไม่หยุดจนทำให้ธนาคารกลางต้องใช้เงินมากขึ้นอีกในการซื้อพันธบัตรเหล่านั้นเพื่อทำให้พันธบัตรราคาสูงขึ้น (ตามกลไก Demand & Supply) เพื่อกด Yield ลงมาให้ต่ำตามที่ต้องการ

นอกจากนี้ Yield Curve Control ในระยาวจะทำได้ยากขึ้นเพราะปริมาณพันธบัตรที่มีให้ซื้อมีอยู่อย่างจำกัด (ยิ่งซื้อยิ่งไม่มีให้ซื้อ) อย่างกรณีของญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นมาธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กลายเป็นผู้ถือครองตราสารหนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมากที่สุด การที่กลายเป็นผู้ถือครองที่มากที่สุดส่งผลให้หลังจากนั้นการเข้าซื้อทำได้ยากขึ้นเพราะปริมาณพันธบัตรที่มีให้ซื้อลดลงเรื่อย ๆ

ข้อมูลอ้างอิงจาก: Federal Reserve Bank of St. Louis

Finvestory

บทความเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ในโลกที่ทุกคนต่างลงทุน