• Post category:Economics

QE คือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) เป็นนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) ที่ธนาคารกลางจะเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำด้วยการพิมพ์เงินขึ้นมาตามกรอบเป้าหมาย QE แล้วอัดฉีดเงิน QE จำนวนดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินจากตลาด อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ตราสารหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ไปจนถึง MBS

เป้าหมายของ QE คือ การลดต้นทุนในการกู้ยืมของผู้ที่ต้องการเงินทุน และทำให้ธนาคารพาณิชย์อยากปล่อยกู้ด้วยการทำให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนที่ต่ำลงและเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและลดภาระของภาคเอกชนในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

นอกจากนี้ การทำ QE หรือ Quantitative Easing ยังสามารถลดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนของการกู้ยืมด้วยการกดอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield) ให้ต่ำลง โดยที่ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate)

เนื่องจากการที่ธนาคารเข้าไปซื้อตราสารหนี้ในการทำ QE ธนาคารกลางที่เป็นผู้ซื้อก็จะต้องเข้าไป Bid ราคาของตราสารหนี้ที่เข้าซื้อเหมือนกับนักลงทุนทั่วไปคนหนึ่ง ซึ่งผลที่ตามมาคือจะทำให้สินทรัพย์ที่ธนาคารกลางเข้าซื้อราคาสูงขึ้นตามกลไกการซื้อขาย เมื่อราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น Yield จากการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวก็จะลดลงตามกลไกผลตอบแทนของตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหรือ Yield คำนวณมาจาก Yield% = ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน / สินทรัพย์ x 100

ตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลออกตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) ราคา $1,000 ที่ให้ผลตอบแทน $20 ต่อปี หรือ 2% ต่อปี การเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินของธนาคารกลางในการทำ QE ธนาคารกลางอาจ Bid ราคาของตั๋วเงินคลังดังกล่าวไปที่ $1,100 ซึ่งการที่ราคาของสินทรัพย์นั้นเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลให้ Yield ลดลงเหลือ 1.8% (มาจาก 20 / 1,100 x 100 = 1.8%)

การที่ Yield ปัจจุบันของ Treasury Bill ลดลง ส่งผลให้ในอนาคตการที่รัฐบาลจะออก Treasury Bill แบบเดียวกันก็สามารถออกได้โดยให้ผลตอบแทนเพียง $18 ต่อปีก็เพียงพอที่จะขายออก จะเห็นว่าอีกประโยชน์ของ QE คือ ใช้ในการช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมให้กับรัฐบาลในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่รัฐบาลต้องใช้เงินมากกว่าช่วงปกติเพื่อนำเงินไปใช้ในการออกมาตรการช่วยเหลือและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ในขณะที่ภาษีเก็บได้ลดลง)

QE กับตราสารหนี้ภาคเอกชน

เมื่อตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำให้ผลตอบแทน (Yield) ที่ลดลง ก็จะกระตุ้นให้นักลงทุนย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม (พฤติกรรมนี้เรียกว่า Search for Yield) ซึ่งตามปกติเมื่อตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลอย่างพันธบัตรรัฐบาล และ Treasury Bill ให้ผลตอบแทนลดลงนักลงทุนจะย้ายเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและหุ้นที่ความเสี่ยงสูงกว่าเพื่อชดเชยผลตอบแทนที่หายไป

เมื่อนักลงทุนหันมาลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้มากขึ้นก็จะทำให้ราคาของหุ้นกู้สูงขึ้นตามกลไกของการซื้อขาย และเมื่อราคาสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ Yield ของหุ้นกู้ลดลง (ด้วยกลไกเดียวกับตัวอย่าง Treasury Bill ด้านบน) ส่งผลให้การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนในอนาคตสามารถทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นคือทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนักลงทุนลดลงในอนาคต

กลไกดังกล่าวคือสิ่งที่ทำให้ QE หรือ Quantitative Easing ช่วยทำให้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนของภาคเอกชนลดลง โดยที่ธนาคารกลางไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate)

นอกจากนี้ QE ยังอาจกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากเมื่อต้นทุนในตลาดตราสารหนี้ลดลง (จากกลไกที่ได้อธิบาย) ธนาคารพาณิชย์ก็จะมีแนวโน้มในการปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำลงเพื่อรักษาลูกค้าที่สามารถระดมทุนได้ทั้งในตลาดสินเชื่อและตลาดตราสารหนี้เอาไว้ เพราะถ้าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าก็จะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เลือกระดมทุนผ่านหุ้นกู้ที่ดอกเบี้ยถูกกว่าแทน

QE กับตลาดหุ้น

อย่างที่บอกว่าเมื่อตราสารหนี้ของรัฐบาลให้อัตราผลตอบแทน (Yield) ที่ลดลง นักลงทุนก็จะมีพฤติกรรม Search for Yield ในการมองหาสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้นชดเชยผลตอบแทนที่หายไป หุ้นเองก็เป็นตัวเลือกหนึ่งเช่นเดียวกันกับตราสารหนี้ภาคเอกชนในหัวข้อก่อนหน้านี้ เมื่อเงินไหลเข้ามาซื้อหุ้นก็จะทำให้ราคาหุ้น (ที่นักลงทุนเข้าซื้อ) สูงขึ้น

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นยังช่วยทำให้ในบางกรณีบริษัทสามารถเพิ่มทุนได้ง่ายขึ้นจากการที่ออกหุ้นจำนวนน้อยลงเพื่อให้ได้เงินทุนที่เท่ากัน

ตัวอย่างเช่น ถ้าปัจจุบันราคาตลาดของหุ้นบริษัท Finvestory คือ 20 บาท/หุ้น โดยบริษัทมีหุ้นอยู่ทั้งหมด 1,000 หุ้น โดยเจ้าของถือหุ้นอยู่เอง 750 หุ้น สมมติว่าบริษัทต้องการเงินทุน 20,000 บาทด้วยการเพิ่มทุนบริษัทต้องเพิ่มหุ้นเข้ามาอีก 1,000 หุ้น นั่นหมายความถ้าหากบริษัท Finvestory หาเงินทุน 20,000 บาทด้วยการเพิ่มทุนจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของเจ้าของลดลงจากเดิม 75% (750 จาก 1,000 หุ้น) ลดลงเหลือ 37.5% (750 จาก 2,000 หุ้น)

ในทางกลับกันสมมติว่าการทำ QE ทำให้มีเงินไหลเข้ามาจนาคาตลาดของหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 50 บาท/หุ้น การหาเงินทุน 20,000 บาทด้วยการเพิ่มทุน บริษัทสามารถทำได้ด้วยการเพิ่มหุ้นเข้ามาเพียง 400 หุ้นก็เพียงพอแล้ว ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของเจ้าของลดลงไปที่ 53% เท่านั้น

เป้าหมายของ QE

โดยสรุปเป้าหมายของการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) หรือ QE ของธนาคารกลาง ได้แก่

  1. การเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ทุกคนไม่อยากใช้จ่าย ธุรกิจไม่อยากลงทุน รวมถึงธนาคารไม่อยากปล่อยกู้
  2. ช่วยให้รัฐบาลกู้เงินเพื่อนำไปใช้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น (และมีต้นทุนที่ลดลง)
  3. ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมลดลงจากการเข้าถึงเงินที่ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลงของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำลง

อย่างไรก็ตาม จากที่อธิบายเกี่ยวกับกลไกและเป้าหมายของ QE มาทั้งหมด บางคนอาจมีคำถามว่าถ้าหากต้องการให้ต้นทุนในการกู้ยืมลดลง ทำไมธนาคารกลางเลือกที่จะทำ QE แทนที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง

คำตอบคือประเทศที่ทำ QE เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ทำ QE เป็นประเทศแรก สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ หรือสวีเดน ทุกประเทศอยู่ในจุดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมากในระดับเข้าใกล้ศูนย์ หรือใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ (Negative Interest Rate) อยู่แล้ว ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกต่อไป (หรือเป็นผลเสียมากกว่าผลดี)

การที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินขึ้นมาแล้วซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน ส่งผลให้บางครั้ง QE ในข่าวจึงถูกเรียกว่า “การเข้าซื้อสินทรัพย์ (ของธนาคารกลาง)” หรือ “Asset Purchase” หรืออะไรที่คล้ายกัน แทนที่จะเรียกว่า QE หรือ Quantitative Easing ตรงๆ

ความเสี่ยงของการทำ QE

แม้ว่าเป้าหมายของ QE คือการกระตุ้นเงินเฟ้อ แต่ความเสี่ยงของ QE ก็คือเงินเฟ้อ (Inflation) ที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะการทำ QE ในช่วงที่เศรษฐกิจดีอยู่แล้วที่จะทำมีปริมาณเงินในระบบมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมระดับเงินเฟ้อได้

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นจนถึงจุดหนึ่งธนาคารกลางก็จะดึงเงินกลับเพื่อทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมาย ทำให้ความเสี่ยงที่แท้จริงของ QE (มีโอกาสเกิดขึ้นง่ายกว่า) อยู่ที่นักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาเพิ่มขึ้นมาจาก QE เพราะเมื่อถึงจุดที่ธนาคารกลางต้องดึงเงินที่เคยใส่เข้ามาในระบบผ่านการทำ QE กลับ เงินจาก QE ที่เคยเข้าไปหนุนราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ก็จะหายไปไม่มากก็น้อย

หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ถ้าหากกลไกที่อธิบายในข้างต้นของบทความนี้ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อธนาคารเพิ่มเงินเข้ามาในระบบผ่านการทำ QE ดังนั้นถ้าธนาคารดึงเงินกลับสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือด้านตรงข้ามนั่นเอง

นอกจากนี้ อีกปัญหาของ QE คือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง ๆ เพราะในทางปฏิบัติแล้วธนาคารกลางก็ไม่สามารถบังคับให้ธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจใช้เงินทุนดังกล่าวได้ โดยเฉพาะในกรณีที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นที่แม้ว่าจะทำ QE ก็ยังคงอยู่ในภาวะเงินฝืดอยู่ดี


Key Takeaway

  • QE คือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินแล้วอัดฉีดเงินเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน
  • QE ย่อมาจาก Quantitative Easing หรือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ
  • ถึงแม้ว่า QE จะถูกเรียกว่าเป็นการพิมพ์เงิน แต่การทำ QE ไม่ได้เป็นการพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาจริง ๆ แต่เป็นการเพิ่มเงินขึ้นมาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ธนาคารกลางคีย์ตัวเลขเข้าระบบ)
  • เป้าหมายของ QE คือ การเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและลดต้นทุนการกู้ยืมเงิน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ
  • มาตรการ QE ถูกใช้ครั้งแรกโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อปี ค.ศ. 2001 ในช่วงทศวรรษของญี่ปุ่นหรือ Lost Decade

Finvestory

บทความเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ในโลกที่ทุกคนต่างลงทุน