วิธีเปิดพอร์ตหุ้น ต้องรู้อะไรบ้างในการเปิดพอร์ตหุ้นไทย

เผยแพร่เมื่อ

ใน

วิธีเปิดพอร์ตหุ้น คือ วิธีเลือกโบรคเกอร์ เริ่มต้นเล่นหุ้น การ เปิดพอร์ตหุ้น ไทย Broker SET

วิธีเปิดพอร์ตหุ้น

วิธีเปิดพอร์ตหุ้น ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การเดินทางไปเปิดพอร์ตหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ด้วยตนเอง และการเปิดพอร์ตหุ้นผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางไปที่บริษัทหลักทรัพย์

โดยวิธีเปิดพอร์ตหุ้นทั้ง 2 รูปแบบมีเงื่อนไขในการเปิดพอร์ตหุ้น เอกสารหลักฐานการยืนยันตัวตนที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนที่แตกต่างกันมีเพียงแค่การที่นักลงทุนจะต้องเดินทางหรือไม่ต้องเดินทางไปยังบริษัทหลักทรัพย์เท่านั้น

ในบทความนี้จะเป็นแนวทางในการเปิดพอร์ตหุ้นหรือบัญชีสำหรับซื้อขายหุ้นในเบื้องต้น สำหรับเป็นแนวทางในการเปิดพอร์ตหุ้นสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดหุ้น

ซึ่งแนวทางในการเปิดพอร์ตหุ้น เพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจจะแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้:


เลือก Broker หุ้น

ขั้นตอนแรกในการเปิดพอร์ตหุ้น คือ การเลือก Broker หุ้นที่นักลงทุนจะใช้ซื้อขายหุ้น โดยนักลงทุนอาจพิจารณาจากลักษณะของลงทุนของตนว่าเหมาะกับการใช้โบรคเกอร์ใด รายชื่อบริษัทหลักทรัพย์หรือรายโบรคเกอร์หุ้นทั้งหมดในไทย

สำหรับสิ่งที่ใช้ในการพิจารณาเลือกโบรคเกอร์หุ้น โดยพื้นฐานจะประกอบด้วย:

ความน่าเชื่อถือของ Broker – เนื่องจากเราต้องนำเงินลงทุนไปฝากไว้กับโบรคเกอร์ ความน่าเชื่อถือของโบรคเกอร์จึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง แนะนำให้หาข้อมูลอย่างรอบคอบในประเด็นเหล่านี้:

  • ข้อดีและข้อเสียที่คนส่วนใหญ่พบจากโบรคเกอร์นั้น
  • ความเสถียรของระบบ ล่มบ่อยแค่ไหน และในช่วงเวลาสำคัญล่มบ่อยหรือไม่
  • เคยทำลูกค้าเสียหายหรือไม่
  • เงื่อนไขการชดใช้ถ้าหากโบรคเกอร์นั้นปิดตัวลง
  • ชื่อเสียอื่น ๆ ที่พบบ่อย

รูปแบบการให้บริการของโบรคเกอร์ – เน้นการซื้อขายหุ้นออนไลน์ด้วยตัวเอง หรือเน้นการซื้อขายผ่านมาร์เก็ตติ้ง หรือเน้นให้บริการทั้ง 2 รูปแบบ

วิธีการฝากเงินและถอนเงินจากโบรคเกอร์ – ในบางโบรคเกอร์มีวิธีการฝาก/ถอนเงินลงทุนที่มีเงื่อนไขต่างกัน อย่างในบางโบรคเกอร์ที่เป็นเจ้าของเดียวกับบางธนาคาร การใช้บัญชีธนาคารในเครือเชื่อมกับพอร์ตหุ้นในเครืออาจทำให้นักลงทุนได้รับความสะดวกที่มากกว่า

ฟังก์ชันเสริมของแต่ละโบรคเกอร์ – ในแต่ละโบรคเกอร์หุ้นจะมีฟังก์ชันเสริมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจนำมาตัดสินใจเลือกเปิดพอร์ตหุ้น รายชื่อโบรกเกอร์หุ้นและฟังก์ชันเสริมของแต่ละโบรกเกอร์ ทั้งนี้หากต้องการบริการเสริมจากโบรคเกอร์หนึ่งแต่ต้องการซื้อขายกับอีกโบรคเกอร์สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเปิดพอร์ตหุ้นมากกว่า 1 โบรคเกอร์

ค่าคอมมิชชั่น (Commission) – ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ค่าธรรมเนียมแบบมีขั้นต่ำ และค่าธรรมเนียมแบบไม่มีขึ้นต่ำ

ในกรณีที่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ (สมมติว่า 50 บาทต่อวัน) ถ้าเทรดทั้งวัน 10,000 บาท โดยค่าธรรมเนียมคือ 0.1500% ค่าธรรมเนียมจะเท่ากับ 15 บาท + VAT 7% ของค่าธรรมเนียม = [15+(15×7%)] เป็น 16.05 บาท ซึ่งไม่ถึงค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 50 บาท ดังนั้น ค่าธรรมเนียมจะเป็น 50 + VAT 7% แทน

แต่สำหรับการซื้อขายกับโบรคเกอร์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ ก็จะเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายตามจริงที่ 16.05 บาท

ดังนั้น ถ้าหากการซื้อขายหุ้นต่อครั้งมีค่าธรรมเนียมสูงกว่าค่าธรรมเนียมขั้นต่ำอยู่แล้วในส่วนนี้จะไม่เป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างใด ๆ

เลือกประเภทบัญชีหุ้น

เมื่อเลือก Broker หุ้นที่ต้องการได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการเลือกประเภทของบัญชีหุ้นที่ต้องการเปิด โดยบัญชีหุ้นจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • Cash Balance Account คือ บัญชีหุ้นในลักษณะฝากเงินเข้าไปก่อนถึงจะซื้อได้ (มีดอกเบี้ยด้วย) ฝากเท่าไหร่ซื้อได้เท่านั้น
  • Credit Balance Account คือ บัญชีแบบกู้เงินมาซื้อขาย ต้องมีการวางหลักประกันเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์
  • Cash Account คือ บัญชีแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง แต่ต้องจ่ายภายใน 3 วันทำการ และต้องมีการวางหลักประกัน

ซึ่งเงื่อนไขในการเปิดบัญชีหุ้นแต่ละประเภทอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละบริษัทหลักทรัพย์ สำหรับนักลงทุนใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์แนะนำให้ใช้พอร์ตหุ้นประเภท Cash Balance Account ไปก่อน เนื่องจากมีความซับซ้อนต่ำที่สุด

เตรียมเอกสารสำหรับการเปิดพอร์ตหุ้น

เมื่อได้โบรคเกอร์และประเภทบัญชีที่ต้องการ ขั้นตอนต่อไปคือการทำการเปิดบัญชีหุ้นและการส่งเอกสาร ซึ่งในแต่ละโบรคเกอร์ที่คุณจะทำการเปิดพอร์ตหุ้นด้วยจะระบุเอาไว้ว่าต้องการเอกสารอะไรบ้าง

โดยทั่วไปเอกสารที่ใช้ในการเปิดพอร์ตหุ้น ประกอบด้วย:

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาหน้าสมุดบัญชีที่ใช้ผูกกับพอร์ตเพื่อเติมเงินเข้า และรับเงินปันผล (ธนาคารใดก็ได้)
  • หลักฐานการเงินย้อนหลังตามที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องการ
  • เอกสารแบบฟอร์มขอเปิดบัญชี (ถ้ามี)
  • ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท (บางที่ไม่ต้องการ)

ส่งเอกสาร/ลงทะเบียน

ขั้นตอนสุดท้ายคือการส่งเอกสารในการเปิดบัญชีไปยังบริษัทหลักทรัพย์ตามที่อยู่ของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ในปัจจุบันในบางบริษัทหลักทรัพย์อาจทำได้ผ่านแอพพลิเคชั่นของบางธนาคารในเครือเดียวกันกับบริษัทหลักทรัพย์

เมื่อเอกสารถูกส่งไปถึงแล้ว อาจจะต้องรออนุมัติการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นอีกประมาณ 7 วัน (อาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้น)

หลังจากการเปิดพอร์ตหุ้นสำเร็จแล้ว บริษัทหลักทรัพย์จะให้ Username และ Password สำหรับเข้าสู่ระบบเพื่อซื้อขายหุ้น (โดยอาจจะโทรหรือส่งอีเมลมา)

ติดตามเรา:

บทความโดย

แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ

เกี่ยวกับ: