ROE คือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างกำไรสุทธิ (Net Profit) กับส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ซึ่งจะบอกว่ากำไรสุทธิของบริษัทคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น ค่า ROE จึงเป็นค่าที่ใช้ในการประเมินความสามารถในการทำกำไรของบริษัทว่าสมเหตุสมผลหรือไม่เมื่อเทียบกับเงินทุน
Return on Equity หรือ ROE เป็นค่าที่จะบอกว่าธุรกิจทำกำไรสุทธิได้กี่บาทจากต้นทุนทุก 100 บาท ดังนั้นโดยทั่วไปค่า ROE ที่สูงก็จะหมายถึงการที่ธุรกิจสามารถทำกำไรจากเงินลงทุนได้มากนั่นเอง
ROE สูง คือ สิ่งที่เกิดจากการที่บริษัทมีสัดส่วนของกำไรสุทธิมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น หรือบริษัทสามารถสร้างกำไรได้สูงเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีอยู่
ROE ต่ำ คือ สิ่งที่เกิดจากการที่บริษัทมีสัดส่วนของกำไรสุทธิน้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น หรือบริษัทสามารถสร้างกำไรได้ต่ำเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักในการใช้ Return on Equity หรือ ROE คือ ตัวเลขที่นำมาคำนวณเป็นตัวเลขจากงบแสดงฐานะการเงินในอดีต ดังนั้นค่า ROE ที่ได้จากการคำนวณเป็นเพียงแนวโน้มในอดีตที่ใช้เพื่อการตัดสินใจเท่านั้นไม่ใช่การทำนายอนาคต
วิธีคำนวณ ROE
Return on Equity หรือ ROE คือการหาสัดส่วนโดยการเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างกำไรสุทธิ (Net Profit) กับส่วนของผู้ถือหุ้น (Owner’s Equity)
Return on Equity หรือ ROE = (กำไรสุทธิ ÷ ส่วนของเจ้าของ) x 100%
ค่า ROE ที่ได้จะมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ควรเป็นบวกและควรมีค่ามากกว่าเมื่อเทียบกับอัตราส่วน ROE ของบริษัทในกลุ่มธุรกิจเดียวกันหรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม หรือนำไปเทียบกับผลดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา
ตัวอย่างเช่น บริษัท FVST มีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 300,000 บาท และในปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 100,000 บาท โดยค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมมีค่าเฉลี่ย ROE ที่ 46%
Return on Equity = (100,000 ÷ 300,000) x 100%
สรุป บริษัทมีค่า Return on Equity หรือ ROE 33% หมายความว่า บริษัทสามารถเปลี่ยนทุนหรือส่วนของเจ้าของทุก 100 บาท เป็นผลตอบแทนจากการลงทุนได้ 33 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
กับดักค่า ROE สูงที่ควรระวัง
อย่างไรก็ตาม ROE ที่สูงของหุ้นบางบริษัทก็ไม่ได้มาจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ดังนั้นถ้าหากถามว่าหุ้น ROE สูงดีหรือไม่อาจตอบได้ไม่เต็มปากว่าดีจริง
สิ่งสำคัญของการวิเคราะห์อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE คือ การพิจารณาว่าสิ่งที่ทำให้ ROE สูง คือความสามารถในการทำกำไรจากต้นทุน (ส่วนของเจ้าของ) หรือไม่
บางครั้งค่า ROE ที่สูงอาจมาจากการที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อย (ตัวหารจึงน้อย ค่า ROE ที่ได้เลยออกมาสูง) หรือบริษัทกู้เงินมาเพิ่มเพื่อเพิ่มกำไรจนทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิสูง ทำให้ค่า ROE ออกมาเพิ่มขึ้นโดยปริยาย เพราะอัตราส่วน ROE คือเรื่องของการหาร ดังนั้นโจทย์ในการทำให้ค่า ROE ออกมาสูงในทางคณิตศาสตร์สามารถทำได้ 2 วิธี
- ลดตัวหาร ในที่นี้ก็คือลดส่วนของเจ้าของ
- เพิ่มตัวตั้ง ในที่นี้คือเพิ่มกำไรสุทธิ
กรณีแรกการลดตัวหาร คือ การลดส่วนของเจ้าของ สามารถทำได้ด้วยการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) หรือจ่ายเงินปันผลเยอะ ๆ เพื่อทำให้ส่วนของเจ้าของไม่เพิ่มขึ้นมากจากกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นมา แต่วิธีนี้มักจะไม่ใช่ปัญหาเพราะชัดเจนว่าบริษัททำกำไรได้จึงสามารถทำแบบนี้ได้
กรณีที่สองคือการเพิ่มตัวตั้ง โดยการเพิ่มกำไรสุทธิ สามารถทำได้มากมายหลายวิธีแต่วิธีที่เป็นปัญหาคือ การก่อหนี้เพิ่มเพื่อเพิ่มยอดขาย (แต่กลับทำกำไรได้ต่ำมาก)
สมมติว่า บริษัท FVST กู้เงิน 1 ล้านบาทด้วยดอกเบี้ย 8% เพื่อซื้อสินค้ามาขาย แต่ทำกำไรจากการขายได้ 50,000 บาท หรือ 0.5% จากต้นทุน ซึ่งไม่พอที่จะจ่ายดอกเบี้ย แต่ด้วยการที่ ROE คือ กำไรสุทธิ ÷ ส่วนของเจ้าของ ทำให้ต่อให้บริษัทกู้เงินมากกว่านี้ก็ไม่สามารถทำให้ตัวเลข ROE แย่ลงได้ และในทางกลับกันกำไรสุทธิที่เพิ่มยิ่งทำให้ค่า ROE สูง ในส่วนนี้เองที่เรียกได้ว่าเป็น “กับดัก ROE”