ROA คือ Return on Asset หรืออัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบระหว่างกำไรสุทธิกับสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท เพื่อวัดความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจจากสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถทำกำไรได้กี่เปอร์เซ็นต์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่
อธิบายให้ง่ายกว่านั้นค่า ROA คือ อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) ที่แสดงให้เห็นว่าทุกสินทรัพย์ 100 บาทของบริษัท บริษัทสามารถเปลี่ยนเป็นกำไรให้บริษัทได้กี่บาท ตามชื่อ Return on Asset หรือผลตอบแทนจากสินทรัพย์
ในการวิเคราะห์งบการเงินด้วยค่า ROA หรือ Return on Asset จะนำค่า ROA ที่ได้ไปเปรียบเทียบกับค่า ROA ของบริษัทอื่นหรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือค่า ROA ในอดีต เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไรของบริษัทว่าอยู่ในระดับปกติ แย่กว่าหรือดีกว่า
การคำนวณ ROA คือ การนำกำไรสุทธิ (Net Profit) หารด้วยสินทรัพย์รวม (Total Asset) และนำไปคูณ 100 เพื่อแปลงเป็นเปอร์เซ็นต์ (ถ้าหากไม่คูณ 100 จะมีหน่วยเป็นเท่า)
Return on Asset หรือ ROA = (กำไรสุทธิ ÷ สินทรัพย์รวม) x 100%
ค่า ROA บอกอะไร
ค่า ROA คือ สิ่งที่บอกว่าสินทรัพย์ทุก 100 บาทของบริษัทสามารถเปลี่ยนเป็นกำไรให้บริษัทได้กี่บาท ดังนั้นค่า ROA ที่คำนวณออกมาควรมีค่าเป็นบวก และยิ่งค่ามากยิ่งหมายความว่าบริษัทสามารถสร้างกำไรจากสินทรัพย์ได้มาก
ในเบื้องต้น Return on Asset หรือ ROA ที่ได้สามารถแปลผลได้ดังนี้:
ROA สูง คือ การที่กิจการมีความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่สูง หรือก็คือกิจการสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มีไปเป็นกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ROA ต่ำ คือ การที่กิจการไม่สามารถใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้ได้ไม่เต็มที่เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ตัวอย่าง ROA
ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 10,000,000 บาท และบริษัทมีกำไรสุทธิในปีนี้ 40,000 บาท โดยอุตสาหกรรมที่บริษัท A ประกอบธุรกิจมีค่าเฉลี่ย ROA คือ 16%
ROA = (40,000 ÷ 10,000,000) x 100%
ดังนั้น ROA ของบริษัท A จะมีค่าเท่ากับ 0.4% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ๆ หมายความว่าบริษัท A ไม่สามารถใช้สินทรัพย์ที่มีเปลี่ยนเป็นกำไรได้เกิดประโยชน์สูงสุด (หรือแย่กว่า) เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น หรืออธิบายให้เป็นรูปธรรมกว่านั้น ค่า ROA 0.4% เหมือนกับลงทุนเปิดร้านไป 10 ล้านบาท ถึงจะไม่ขาดทุนแต่ก็ทำกำไรได้แค่ 40,000 บาท
อย่างไรก็ตามค่า ROA หรือ Return on Asset อาจมีความคลาดเคลื่อนในบางธุรกิจ เพราะบางธุรกิจเป็นธุรกิจที่ใช้สินทรัพย์น้อย ทำให้เมื่อคำนวณออกแล้วได้ค่า ROA ออกมาสูงอยู่แล้ว ทำให้ตัวเลขออกมามากเกินจริง ตัวอย่างเช่น ธุรกิจบริการบางประเภท
ดังนั้น ในการดูอัตราส่วนทางการเงินทั้ง ROA หรืออัตราส่วนทางการเงินไม่ว่าจะตัวไหน ควรที่จะดูตัวเลขอื่นที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Feriors, GreedisGoods