• Post category:Economics

Required Reserve Ratio คือ อัตราส่วนสำรองขั้นต่ำ เป็นกฎที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศจะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องเก็บสำรองเงินฝากขั้นต่ำไว้ในสัดส่วนเท่าไหร่ โดยธนาคารพานิชย์สามารถเลือกได้ว่าจะเก็บสำรองเงินจำนวนนี้เอาไว้ในรูปเงินสดหรือฝากไว้กับธนาคารกลางก็ได้

ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกามีการกำหนดอัตราสำรองเงินฝากหรือ Required Reserve Ratio (RRR) เอาไว้ที่ 3% ตัวเลขดังกล่าวหมายว่าทุกเงินฝาก 100 บาทที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับมาจากผู้ใช้บริการ ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้จะต้องสำรองเงินฝากเอาไว้ 3 บาท

ส่วนที่เหลือจาก 3 บาทที่ถูกหักไว้เป็นเงินสำรองตามกฎ Required Reserve Ratio จะเรียกว่า เงินสำรองส่วนเกิน หรือ Excess Reserve ที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำไปใช้ลงทุนหากำไร ตัวอย่างเช่น นำไปปล่อยกู้ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และนำไปลงทุนในตลาดทุน

ปัจจุบัน Required Reserve Ratio ของประเทศใหญ่ ๆ ทั่วโลกมีอัตราดังนี้

  • สหรัฐอเมริกา 0% (จากเดิม 3% จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2020)
  • ฮ่องกง 0%
  • ญี่ปุ่น 0.8%
  • ประเทศในกลุ่มยูโรโซน 1%
  • ไทย 1%
  • สวิสเซอร์แลนด์ 2.75%
  • รัสเซีย 8%
  • สิงคโปร์ 16%

Required Reserve Ratio อาจพบเห็นได้ในชื่อ Reserve Requirement, Cash Reserve Ratio, หรือ Reserve Ratio

Required Reserve Ratio มีไว้ทำไม

เหตุผลที่ธนาคารกลางต้องกำหนด Required Reserve Ration (RRR) คือ กำหนดไว้เพื่อลดความรุนแรงจากความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์จะขาดสภาพคล่องแบบฉุกเฉิน จากการที่ผู้ฝากเงินต้องการถอนเงินเป็นจำนวนมากจนนำไปสู่การล้มละลายของธนาคารดังกล่าวจนเสียหายเป็นวงกว้าง

การที่ผู้ฝากจำนวนมากแห่มาถอนเงินกับธนาคารพร้อมกันเป็นจำนวนมาก แล้วธนาคารไม่มีเงินสำรองก็จะไม่สามารถคืนเงินให้กับผู้ฝากได้ทั้งหมด ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในธนาคาร และนำไปสู่การแห่ถอนเงินของคนจำนวนมาก เพราะมองว่าถ้ารีบมาถอนไปก่อนอย่างน้อยก็ได้คืน ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ ณ ขนาดนั้นของธนาคารแย่ลงกว่าเดิม (หรืออาจจะล้มละลายไปเลย)

จะเห็นว่าประโยชน์คร่าว ๆ ของ Required Reserve Ratio คือ การที่ธนาคารกลาง (Central Bank) ใช้เป็นเครื่องมือบริหารสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ให้เพียงพอต่อความต้องการของเศรษฐกิจนั่นเอง

Finvestory

บทความเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ในโลกที่ทุกคนต่างลงทุน