Real Yield คืออะไร? อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง พื้นฐานเปรียบเทียบผลตอบแทน

เผยแพร่เมื่อ

ใน

Real Yield คือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง Real Yield Tradingview

Real Yield คืออะไร?

Real Yield คือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดย Real Yield จะคำนวณมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนที่ตัดอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ออกไป ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นผลตอบแทนที่แท้จริงในรูปของกำลังซื้อที่นักลงทุนจะได้รับ

อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง หรือ Real Yield เป็นเครื่องมือที่นักลงทุนใช้ในการประเมินและเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการเลือกลงทุน รวมถึงใช้ในการเปรียบเทียบหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเพื่อย้ายเงินลงทุนเข้าไป

ซึ่งตามปกติ Real Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 จะถูกนำมาเปรียบเทียบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับราคาทองคำหรือดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ก็ตาม

Real Yield จะเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Nominal Yield) และอัตราเงินเฟ้อคาดหวัง (Inflation Expectation) ดังนั้น เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Nominal Yield) ลดลง ทั้งจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการเทขายพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารเคยซื้อไปในการทำ QE หรืออัตราเงินเฟ้อคาดหวัง (Inflation Expectation) เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ Real Yield ลดลง

ในทางกลับกันเมื่อ Nominal Yield เพิ่มขึ้น จากทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลผ่านมาตรการ QE หรืออัตราเงินเฟ้อคาดหวัง (Inflation Expectation) ลดลง ก็จะทำให้ Real Yield เพิ่มขึ้น

วิธีคำนวณ Real Yield

วิธีคำนวณ Real Yield สามารถทำได้ง่ายและตรงไปตรงมาโดยการนำผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Nominal Yield) ลบออกด้วยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ก็จะได้ตัวเลข Real Yield หรือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงออกมา

อย่างไรก็ตาม Real Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 5, 7, 10, 20, และ 30 ปี สามารถดูได้จากเว็บไซต์กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Department of the Treasury) ที่จะรายงาน Real Yield ของพันธบัตรทุกอายุแบบรายวัน

Real Yield = Nominal Yield – Inflation Expectation

  • Nominal Yield คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ระบุไว้ ในที่นี้คือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
  • Inflation Expectation คือ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ เป็นอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต ซึ่งสามารถใช้ตัวเลข 10-Year Breakeven Inflation Rate
  • Real Yield คือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่นักลงทุนได้รับ

ตัวอย่างเช่น พันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 1 ปี ให้ผลตอบแทน 6% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 4% เทียบกับพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 1 ปีที่ให้ผลตอบแทน 8% ต่อปีในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 7%

  • Real Yield พันธบัตรสหรัฐฯ = 6 – 4 = 2%
  • Real Yield พันธบัตรญี่ปุ่น = 8 – 7 = 1%

จากตัวอย่าง จะเห็นว่าแม้พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนถึง 8% ซึ่งมากกว่าสหรัฐฯ แต่เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อออกไปกลับให้ผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรญี่ปุ่นหรือ Real Yield เหลือเพียง 1% เท่านั้น ในขณะที่พันธบัตรสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนหน้าพันธบัตรน้อยกว่า กลับให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) มากกว่า โดยให้ผลตอบแทนที่ 2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ของสหรัฐอเมริกาต่ำกว่า

Real Yield บอกอะไร

การที่ Real Yield ปรับลดลงจะส่งผลให้นักลงทุนเริ่มไม่อยากลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรืออาจทำให้นักลงทุนเลือกที่จะย้ายเงินลงทุนออกจากพันธบัตรรัฐบาลไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ในช่วงเวลานั้น ซึ่งมักจะเป็นทองคำและหุ้นที่มีทิศทางราคาตรงข้ามกับ Real Yield

Real Yield ทองคำ หุ้น อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง
Real Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 7 ปี เทียบกับราคาทองคำ

ในทางกลับกัน Real Yield ที่สูงจะทำให้นักลงทุนสนใจที่จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า เนื่องจากความเสี่ยงที่ต่ำกว่า (และผลตอบแทนที่กลับมาสูงอีกครั้ง) ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดพันธบัตรจนทำให้ Bond Yield ลดลง

Source:

  • ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ GreedisGoods
  • กราฟ Real Yield เทียบกับราคาทองคำ (XAUUSD) จากเว็บไซต์ Tradingview
  • กราฟ Treasury Real Yield Curve Rates ของ US Treasury อายุ 5, 7, 10, 20, และ 30 ปี จากเว็บไซต์ Quandl.com

ติดตามเรา:

บทความโดย

แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ