Quantitative Tightening คืออะไร?
Quantitative Tightening คือ นโยบายการเงินแบบหดตัวที่ธนาคารกลางใช้เพื่อลดปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อควบคุมลดอุปสงค์ในสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและทำให้ระดับราคาสินค้าไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามความร้อนแรงของเศรษฐกิจซึ่งอาจนำไปสู่เงินเฟ้อที่สูงเกินไปในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากมาตรการทางการเงินต่าง ๆ
มาตรการ QT หรือ Quantitative Tightening เป็นมาตรการทางการเงินที่เป็นด้านตรงข้ามของ Quantitative Easing (QE) ซึ่งเป็นนโยบายทางการเงินที่ธนาคารกลางจะขยายขนาดงบดุล (Balance Sheet) ด้วยการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ
ในทางกลับกันการใช้นโยบายทางการเงินแบบ Quantitative Tightening ธนาคารกลางจะลดขนาดงบดุล (Balance Sheet) ของธนาคารกลางลงหลังจากที่ได้เพิ่มงบดุลอย่างมหาศาลจากการทำ QE ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อรู้สึกว่าระดับเงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมายหรือใกล้เคียงแล้ว พูดให้ง่ายกว่านั้น QT คือการทำให้งบดุลธนาคารกลางกลับสู่ภาวะปกติอย่างที่ควรจะเป็นนั่นเอง
เป้าหมายของนโยบายแบบ Quantitative Tightening คือ การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อธนาคารกลางมองว่าเสถียรภาพของเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (เศรษฐกิจเริ่มกลับมาขยายตัว) ก็ไม่จำเป็นต้องอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลืออีกต่อไป
โดยมีเป้าหมาย 2 อย่าง คือ การลดปริมาณเงินในระบบจากการดูดซับสภาพคล่องออกไปจากระบบ และการทำให้ประชาชนและธุรกิจจะไม่อยากกู้เงินเพื่อลงทุนขยายธุรกิจเพิ่มและเลือกที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (แทนที่จะนำมาเสี่ยง) ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะส่งผลให้ปริมาณสภาพคล่องในระบบลดลง
QT ทำอย่างไร
การทำ QT (Quantitative Tightening) ของธนาคารโดยส่วนใหญ่จะเป็นการดึงเงินออกจากระบบด้วยวิธี Reverse Repo หรือการขายพันธบัตร (ที่เคยซื้อมาเมื่อตอนทำ QE) กลับสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้เงินที่เคยอยู่ในระบบเศรษฐกิจกลับมาที่มือของธนาคารกลาง
ตัวอย่างเช่น ในปี 2018 Fed ได้ตัดสินใจไม่ Rollover พันธบัตรรัฐบาลบางส่วน และแทนที่ Fed จะขายให้กับตลาด Fed ตัดสินใจให้พันธบัตรดังกล่าวหมดอายุและไม่ออกพันธบัตรรุ่นใหม่มาแทนที่ (ไม่ Rollover) พร้อมกับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ครั้งในปี 2018 จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2018 ของสหรัฐฯ อยู่ที่กรอบ 2.25-2.5%ในรอบหลายปี

จากกราฟด้านบนจะเห็นว่า Balance Sheet ของ Fed เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2008 ที่ Fed เริ่มทำ QE ได้ลดลงในช่วงปี 2018 ที่ Fed เริ่มพยายามทำ Quantitative Tightening ก่อนที่ Balance Sheet จะกลับมาเพิ่มขึ้นเพราะ Unlimited QE ในช่วงวิกฤตโควิดปี 2020
- กราฟ Fed’s Balance Sheet จาก Assets: Total Assets: Total Assets – Stlouisfed
นอกจากนี้ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้ทำการ Reverse Repo โดยไม่ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ขายพันธบัตรรัฐบาลออกไปถึง 4.9 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นวงเงินที่มากกว่าวงเงิน QE ต่อเดือนที่อยู่ที่ระดับ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้กลายเป็นการ Reverse Repo ที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Stlouisfed และ GreedisGoods