QE กับตลาดหุ้น โดยทั่วไปจะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน การใช้มาตรการ QE หรือ Quantitative Easing จะส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นจากกลไกพฤติกรรม Search for Yield ของนักลงทุน เพราะเมื่อเงินถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QE จะทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยให้ผลตอบแทน (Yield) ที่ลดลง
มาตรการ QE หรือ Quantitative Easing ของธนาคารกลางโดยส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลรุ่นดังกล่าวที่ธนาคารกลางเข้าซื้อมีราคาที่สูงขึ้น เมื่อราคาพันธบัตรสูงขึ้นจะส่งผลให้ Bond Yield ของพันธบัตรลดลงตามกลไกอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield)
เมื่อพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ที่ถือว่าเป็นการลงทุนปลอดความเสี่ยง (Risk Free) ให้ผลตอบแทนที่ลดลงเมื่อคำนวณ Real Yield ออกมาได้ต่ำกว่าเงินเฟ้อ นักลงทุนก็จะรู้สึกไม่คุ้มที่จะนำเงินมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอีกต่อไปและถูกกระตุ้นให้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นชดเชยในส่วนที่หายไป ตรงส่วนนี้เองคือจุดที่ทำให้มาตรการ QE กับตลาดหุ้น มีความเกี่ยวข้องกัน
พฤติกรรมดังกล่าวของนักลงทุนเรียกว่าพฤติกรรม Search for Yield หรือพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน โดยนักลงทุนจะย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง ทองคำ หุ้นกู้ หุ้น หรือแม้กระทั่ง Cryptocurrency
มาตรการ QE กับตลาดหุ้น เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ตามที่ได้อธิบายไว้ว่าเมื่อการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลให้อัตราผลตอบแทน (Bond Yield) ที่ลดลง นักลงทุนก็จะมีพฤติกรรม Search for Yield เพื่อหาผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นมาชดเชยผลตอบแทนที่เคยได้
ซึ่งตัวเลือกแรก ๆ ของนักลงทุนก็คือ หุ้น
ความเกี่ยวข้องของ QE กับตลาดหุ้น คือ เมื่อเงินทุนไหลเข้ามาซื้อหุ้นก็จะทำให้ราคาหุ้นที่นักลงทุนเข้าซื้อ สูงขึ้นตามกลไกราคา
QE แบบไร้ขีดจำกัด (Unlimited QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมตลาดหุ้นในช่วงวิกฤติโควิดในปี 2020 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก กลับเป็นบวกและทำ All Time High ไม่หยุด
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า QE จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเสมอไป เนื่องจากเงินลงทุนจะไหลเข้าสู่ตลาดที่ให้ผลตอบแทน Real Yield (ผลตอบแทนหลังหักเงินเฟ้อออก) ที่สูงกว่า
จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นเมื่อหยุดทำ QE
เป้าหมายหลักของ QE คือทำให้เงินเฟ้อ (Inflation) ในช่วงที่เงินฝืด แต่ความเสี่ยงของ QE เองก็คือเงินเฟ้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ ปัญหาที่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมาตรการ QE ถูกใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจดีอยู่แล้วที่จะทำมีปริมาณเงินในระบบมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมระดับเงินเฟ้อได้
แน่นอนว่าธนาคารกลางจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น เมื่อเงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิจถึงจุดที่เป็นที่น่าพอใจตามเป้าของธนาคารกลาง ณ จุดนั้นธนาคารกลางก็จะเริ่มหยุดใช้มาตรการ Quantitative Easing และเริ่มดึงเงินกลับออกจากระบบ เพื่อรักษาระดับเงินเฟ้อเป้าหมาย
เมื่อธนาคารกลางอย่าง Fed ดึงเงิน QE ออกมา สิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงสิ่งที่เกิดจาก QE กับตลาดหุ้นก็จะเกิดผลย้อนกลับจากกรณีที่เงินถูกเพิ่มเข้ามาในระบบอย่างที่ได้อธิบายได้บน
เงินจาก QE ที่เคยเข้าไปหนุนราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร หรือแม้กระทั่ง Bitcoin และ Cryptocurrency อื่น ๆ ก็จะหายไปไม่มากก็น้อย หลังจากนั้นก็คงไม่ต้องอธิบายว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา
สำหรับใครที่ต้องการติดตามว่าปัจจุบัน Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ มีปริมาณเงิน QE อยู่มากแค่ไหนและจะหยุดมาตรการ QE เมื่อไหร่สามารถติดตามได้จาก Fed Balance Sheet