หลักธรรมาภิบาล คืออะไร?
หลักธรรมาภิบาล คือ หลักการเกี่ยวกับแนวปฏิบัติและวิธีบริหารองค์กรอย่างสุจริต โปรงใส และมีจริยธรรมตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือสังคม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ขององค์กรทุกฝ่าย
โดยหลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ (Sustainability) เนื่องจากการดำเนินธุรกิจอย่างสุจริตและโปร่งใสย่อมทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นในระยะยาว
หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้น ในธุรกิจที่ไม่สนใจที่จะดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล แล้วเลือกที่จะดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางที่ขัดต่อจริยธรรม เอาเปรียบ หรือทำการทุจริต ก็จะนำมาซึ่งปัญหาทางกฎหมาย ปัญหาด้านชื่อเสียงในสายตาผู้บริโภค และความเชื่อถือต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจอย่างคู่ค้า
ทั้งหมดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนที่ไม่ว่าจะเน้นลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืนหรือไม่ก็ตาม ควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินงานบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล (Principles of Good Governance)
และไม่ควรพิจารณาเพียงแค่หลักธรรมาภิบาลที่แสดงอยู่บนหน้ากระดาษ แต่ควรตรวจสอบไปถึงการดำเนินงานในอดีต สิ่งที่เห็นปัจจุบัน ชื่อเสียงขององค์กร ข่าวหรือเหตุการณ์บางอย่างและวิธีตอบสนองต่อแต่ละเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงต่อหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารหรือตัวแทน
หลักธรรมาภิบาลเกี่ยวกับอะไร
หลักธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทในการนำไปใช้และวัฒนธรรมที่นำไปใช้ แต่หลักการทั่วไปของหลักธรรมาภิบาลในบริบทของธุรกิจและการบริหารจัดการองค์กร ได้แก่:
- ความโปร่งใส (Transparency) การดำเนินงานที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสามารถตรวจสอบได้
- ความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ (Responsibility) การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนด้วยสติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มกำลัง มุ่งมั่นให้งานสำเร็จและพัฒนางานให้ดีขึ้น
- ความยุติธรรม (Fairness) การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
- ความรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา (Accountability) เป็นเรื่องของความรับผิดชอบในผลของการกระทำจากการกระทำ การสั่งการ การมอบหมาย และการตัดสินใจตามบทบาทหน้าที่ของตน โดยสามารถชี้แจงและอธิบายการตัดสินใจนั้นได้ รวมถึงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดหรือความล้มเหลว
- หลักนิติธรรม (Rule of law) การที่ทุกคนในองค์กรอยู่ใต้กฎอย่างเท่าเทียม และไม่ควรมีใครอยู่เหนือกฎที่ตั้งไว้
- การมีส่วนร่วม (Participation) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีสิทธิในกระบวนการตัดสินใจควรมีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร
- การดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง (Compliance) ที่ถูกต้องตามกฎหมายรวมถึงข้อบังคับและมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ในแต่ละองค์กรอาจจะมีหลักธรรมาภิบาล (Principles of Good Governance) ที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม แนวทางการดำเนินธุรกิจ มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือบริบททางสังคมอื่น ๆ
ปัจจุบันในแต่ละองค์กร โดยเฉพาะในบริษัทจดทะเบียนจะมีการตั้งแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลของแต่ละบริษัท เรียกว่า Code of Governance ซึ่งนักลงทุนที่สนใจสามารถดูได้ในส่วนนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations หรือ IR) และรายงานประจำปีของแต่ละบริษัทจดทะเบียน