ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร? อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) มีไว้เพื่ออะไร

เผยแพร่เมื่อ

ใน

ดอกเบี้ยนโยบาย คือ Policy Rate อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่กำหนดเอาไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกำกับดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) เป็นเครื่องมือที่ธนาคารจะใช้ในการกระตุ้นการลงทุนหรือชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา

หน้าที่หลักของ ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) คือเป็นอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารพานิชย์และธนาคารกลางเสมือนต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของดอกเบี้ยอื่น ๆ หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นดอกเบี้ยนโยบายก็คือดอกเบี้ยขั้นต่ำของประเทศนั่นเอง

สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ของแต่ละประเทศคือธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศ โดยการคงที่ เพิ่ม หรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นในการประชุมธนาคารกลางตามตารางที่กำหนดเอาไว้ในแต่ละปี

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย จะดูแลโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งอยู่ในสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) หรือแบงค์ชาติ โดยในแต่ละปีจะมีการประชุมกนง. 8 ครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินและพิจารณากำหนดนโยบายการเงินของประเทศ

เพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร

เพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย คือ สิ่งเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือเศรษฐกิจกำลังขยายตัวจากการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง (เนื่องจากมีงานและมีเงินที่จะจ่าย) อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไประดับราคาสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามกลไกของเงินเฟ้อ (Inflation) และอาจนำไปสู่การลงทุนที่มากเกินความจำเป็นซึ่งเป็นผลมาจากการที่ช่วงขาขึ้นทำอะไรก็ได้กำไร

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางคือเครื่องมือในการควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปจนนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ และทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้นเพื่อชะลอการกู้เงินไปลงทุน (ในยุคที่คนมองว่าทำอะไรก็กำไร) ที่อาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้ในที่สุด

ลดดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร

ลดดอกเบี้ยนโยบาย คือ นโยบายทางการเงินที่ธนาคารกลางจะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงซบเซาที่คนไม่กล้าใช้เงินและธุรกิจไม่กล้าลงทุน การลดดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจลดลงเพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ซึ่งการที่ธุรกิจลงทุนก็จะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่กำลังซบเซามากขึ้น

เป้าหมายของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคือการกระตุ้นให้เงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะนอกจากการลดดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ธุรกิจกู้เงินได้ง่ายขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงยังลดลดแรงจูงใจของคนทั่วไปในการออมเงินและอาจทำให้นำเงินเหล่านั้นมาจับจ่ายใช้สอยซึ่งเป็นการเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายยังทำให้หลักทรัพย์ที่ผลตอบแทนอ้างอิงกับดอกเบี้ยนโยบาย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เงินฝาก และตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนลดลงด้วย ส่งผลให้นักลงทุนเกิดพฤติกรรม Search for Yield ที่ต้องย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ความเสี่ยงสูงกว่าเพื่อหาผลตอบแทนชดเชยส่วนที่ลดลง

คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ การไม่เพิ่มหรือไม่ลด อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) เป็นการจัดการดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางที่พบได้บ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับการลดดอกเบี้ยนโยบายและการเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย

เหตุผลของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้มาจากการที่สภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่น่าพอใจไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยนโยบายการเงินเหมือนกับ 2 สถานการณ์ด้านบน หรืออยู่ในจุดที่ปรับอัตราดอกเบี้ยก็ไม่มีผลอะไร

ดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลกับอะไรบ้าง

ต้นทุนของเงินคือดอกเบี้ย (Interest) สมมติว่า ธนาคารยืมเงิน 100 บาทเพื่อนำไปลงทุนด้วยดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ดังนั้นการลงทุนของธนาคารอย่างการปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ธนาคารต้องได้ผลตอบแทนมากกว่า 1% เมื่อต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็จะทำให้ผลตอบที่ต้องการของธนาคารเปลี่ยนไป

ดังนั้น ในเบื้องต้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) คือสิ่งที่ส่งผลกับทุกดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร เพราะดอกเบี้ยนโยบายคือดอกเบี้ยขั้นต่ำของดอกเบี้ยในประเทศ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ดอกเบี้ยอื่น ๆ เพิ่มหรือลดในทิศทางเดียวกัน

ตัวอย่างของดอกเบี้ยที่จะเพิ่มและลดตามดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่

  1. ผลตอบแทนของตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้
  2. ดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคล เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน ดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์
  3. ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุน
  4. ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อธุรกิจ
  5. ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

นอกจากนี้ การเพิ่มและลดดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลกระทบในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยโดยตรงด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับเงินเฟ้อ (Inflation Rate) เพราะต้นทุนการเงินของธุรกิจที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าโดยตรง และอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจได้รับผลจากการที่เงินทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศนั้นมากขึ้นตามผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย และในทางกลับกันการลดดอกเบี้ยนโยบายก็จะทำให้เงินทุนของต่างชาติไหลออกไปหาประเทศที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า

จะเห็นว่า ดอกเบี้ยนโยบายคือเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิดเพราะต้นทุนของเงินที่ธนาคารให้กู้ยืม ไม่ว่าจะเป็น เงินกู้บ้าน เงินกู้รถยนต์ หรือแม้กระทั่งเงินฝาก ทั้งหมดล้วนมีพื้นฐานมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสามารถติดตามการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย BOT.or.th ซึ่งจะประกาศออกมาหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ติดตามเรา:

บทความโดย

แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ