• Post category:Economics

ดอกเบี้ยติดลบ คือ นโยบายของธนาคารกลางที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 0% หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ (Negative Interest Rate Policy) เพื่อกระตุ้นสถาบันการเงินที่ถือเงินเอาไว้ให้นำเงินออกมาลงทุนปล่อยกู้ให้ภาคเอกชนและภาคครัวเรือน

ภายใต้อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate Policy) การที่ธนาคารพาณิชย์นำเงินทุนส่วนเกินฝากไว้กับธนาคารกลาง (Central Bank) ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลางแทนที่จะได้รับดอกเบี้ยในการฝากเงิน

ดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate Policy) คือ สิ่งที่จะกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากฝากเงินเอาไว้กับธนาคารกลางที่จะทำให้เงินฝากหายไปเรื่อย ๆ และนำเงินออกไปลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการนำไปปล่อยกู้นั่นเอง

เป้าหมายของ Negative Interest Rate Policy หรือ ดอกเบี้ยติดลบคือการแก้ปัญหาภาวะเงินฝืด (Deflation) ที่ไม่สามารถแก้ด้วยการลดดอกเบี้ยให้ใกล้ 0% ได้อีกต่อไป เนื่องจากการใช้ดอกเบี้ยติดลบเกิดขึ้นในจุดที่อัตราดอกเบี้ยอยู่แถว 0% อยู่แล้วแต่กลับไม่สามารถกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยกู้หรือเกิดการลงทุนได้

ที่ผ่านมามี 5 ประเทศที่ใช้ดอกเบี้ยติดลบ Negative Interest Rate Policy (NIRP) คือ เดนมาร์กเมื่อปี 2012, ยุโรปเมื่อปี 2014, สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปลายปี 2014, สวีเดนเมื่อปี 2015, และญี่ปุ่นเมื่อปี 2016

กลไกของอัตราดอกเบี้ยติดลบ (NIRP)

ปัญหาที่เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate Policy) คือ ภาวะเงินฝืดซึ่งเป็นภาวะที่คนไม่อยากใช้เงินเพราะจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนไม่ต้องการจับจ่ายหมายความว่าไม่มีความต้องการสินค้า และเมื่อสินค้าบางอย่างไม่มีความต้องการซื้อสินค้าราคาของสินค้านั้นจะลดลงเรื่อย ๆ ตามกฎของอุปสงค์ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตและดอกเบี้ยเงินกู้ยังเท่าเดิม

ผลกระทบที่ตามมาคือบริษัทจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ (ที่ลดลง) ทำให้บริษัทลดกำลังการผลิตและหยุดการขยายธุรกิจ ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปยังประชาชนจนส่งผลให้ประชาชนยิ่งไม่กล้าใช้เงินขึ้นอีก

จากปัญหาดังกล่าวโจทย์คือการทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อด้วยการจ้างงาน แต่การจ้างงานจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนของธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบจึงถูกใช้เครื่องมือกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ (ที่กำลังไม่อยากปล่อยกู้) ต้องปล่อยกู้ เพราะดอกเบี้ยติดลบ คือ สิ่งที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงินส่วนเกินกับธนาคารกลางอีกต่อไป

สิ่งที่ธนาคารกลางต้องการคือการที่ธุรกิจสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้นและภาระดอกเบี้ยลดลง เพื่อกระตุ้นธุรกิจให้เกิดการลงทุน นอกจากนี้ดอกเบี้ยติดลบยังทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากของลดลง (ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ติดลบ แต่ดอกเบี้ยต่ำมาก) เพื่อกระตุ้นให้คนนำเงินออกมาใช้หรือนำเงินออกไปลงทุน

อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate Policy) ไม่ได้มีเพียงด้านดีที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยกลไกการลดต้นทุนทางการเงิน แต่ผลกระทบด้านลบของอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ทุกประเทศที่เคยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบต่างได้รับผลกระทบเหล่านี้:

  1. ธนาคารพาณิชย์มีกำไรส่วนจากดอกเบี้ยลดลง
  2. Fund Flow ไหลออกจากประเทศที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเพราะ Real Yield ลดลง
  3. การออมเงินด้วยการฝากเงินของภาคประชาชนลดลงตามผลตอบแทนที่ลดลง

ข้อมูลอ้างอิงจาก: IMF, Bloomberg, Federalreserve

Finvestory

บทความเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ในโลกที่ทุกคนต่างลงทุน