พันธบัตรผลตอบแทนติดลบ คือ พันธบัตรที่ไม่ให้ดอกเบี้ยกับนักลงทุนที่ซื้อพันธบัตร แต่ในทางกลับกันเมื่อนักลงทุนไถ่ถอนพันธบัตรรุ่นดังกล่าวเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนนักลงทุนจะได้เงินต้นคืนลดลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรติดลบ (Negative Bond Yield)
ตัวอย่างเช่น อังกฤษออกพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ (Negative Yield Bond) รุ่นอายุ 1 ปี อัตราผลตอบแทน -0.003% ต่อปี ดังนั้นถ้าหากนักลงทุนซื้อพันธบัตรรุ่นดังกล่าวมูลค่า 100 บาท เมื่อครบเวลาไถ่ถอน 1 ปี นอกจากจะไม่ได้ดอกเบี้ย นักลงทุนยังได้เงินคืนเพียงแค่ 99.007 บาทเท่านั้น (ไม่ใช่ว่านักลงทุนต้องจ่ายเงินเพิ่มแต่อย่างใดเมื่อไถ่ถอน)
สำหรับเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนยังคงลงทุนใน พันธบัตรผลตอบแทนติดลบ (Negative Bond Yield) ทั้งที่การลงทุนพันธบัตรผลตอบแทนติดลบทำให้เงินต้นลดลงเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน มีเหตุผลเบื้องต้นอยู่ 4 เหตุผล
- ซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ เพื่อนำไปเก็งกำไรในตลาดรอง (ขายต่อ)
- คาดว่ารัฐบาลจะซื้อพันธบัตรคืน ในการทำ QE หรือ YCC ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
- ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
- ใช้พันธบัตรผลตอบแทนติดลบพักเงินสดแทนการฝากธนาคาร
นักลงทุนซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบทำไม
เหตุผลที่นักลงทุนซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ สำหรับกรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดรองของตราสารหนี้กันก่อน ตลาดรอง (Secondary Market) คือ ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ที่นักลงทุนจะนำตราสารหนี้มาซื้อขายเปลี่ยนมือกัน (ตั้งแต่มือที่ 2 เป็นต้นไป สำหรับตราสารหนี้ออกใหม่เราจะเรียกว่าตลาดแรกหรือ Primary Market)
กลไกราคาในตลาดตราสารหนี้เองก็ไม่ได้ต่างจากตลาดหุ้นที่นักลงทุนจะมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ถ้าหากดอกเบี้ยของพันธบัตรออกใหม่สูงกว่าดอกเบี้ยของพันธบัตรที่มีอยู่ในตลาดราคาของพันธบัตรเก่าก็จะลดลงเพราะนักลงทุนเทขายไปซื้อรุ่นใหม่ที่ผลตอบแทนดีกว่า ในทางกลับกันถ้าดอกเบี้ยพันธบัตรออกใหม่ต่ำกว่าพันธบัตรที่มีอยู่ในตลาดราคาพันธบัตรรุ่นเก่าก็จะเพิ่มสูงขึ้น
ด้วยกลไกดังกล่าวนักลงทุนจึงซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบเพื่อใช้ในการเก็งกำไร เพราะมองว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในอนาคตจะอาจติดลบมากกว่านี้ โดยนักลงทุนจะสามารถทำกำไรได้ก็ต่อเมื่อขายพันธบัตรได้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน หรือขายคืนให้กับธนาคารกลางที่ทำ QE หรือ YCC แล้วซื้อพันธบัตรกลับไป
พันธบัตรผลตอบแทนติดลบ (Negative Bond Yield) ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด (Deflation) ที่มาพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้มูลค่าของเงินในปัจจุบันมีค่าน้อยกว่าเงินในอนาคต (ในอนาคตเงินเท่าเดิมซื้อของได้มากขึ้น) ซึ่งเป็นผลจากระดับราคาสินค้าที่ลดลงเพราะไม่มีใครต้องการซื้อสินค้าในภาวะเงินฝืด
ในกรณีดังกล่าว แม้ว่านักลงทุนจะได้เงินคืนในอนาคตเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินต้นที่ซื้อพันธบัตรผลตอบแทนติดลบเมื่อถึงเวลาไถ่ถอน แต่มูลค่าที่แท้จริงของเงินที่ได้กลับมา ณ เวลานั้นจะมีค่ามากกว่าเดิม (ซื้อของได้มากกว่าเดิมด้วยเงินเท่ากัน) จากผลของภาวะเงินฝืด
นอกจากนี้ การฝากเงินสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ที่มีเงินมากกว่าหลักร้อยล้านพันล้านไว้กับธนาคารยังเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากธนาคารมีโอกาสที่ธนาคารจะขาดสภาพคล่องและล้มละลายจนทำให้เงินฝากทั้งหมดกลายเป็น 0 หรือเหลือไม่กี่ล้านตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก
ข้อมูลอ้างอิงจาก: WallStreetJournal, Investopedia, Forbes