ทำไมไม่ลดดอกเบี้ย? เปิดมุมมองคณะกรรมการนโยบายการเงิน จากประชุม กนง. ครั้งที่ 2 ของปี 2567

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

สรุป ผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2 ปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย กนง ประชุม 2/2567

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดยอีก 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 BPS ในบทความนี้ finvestory จะพาไปหาคำตอบว่าทำไมในมุมมองธนาคารแห่งประเทศไทยถึงยังไม่อยากลดดอกเบี้ยฯ ในตอนนี้

มุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

คณะกรรมการนโยบายการเงินส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยปัจจุบันยังคงสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวตามกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพราคา ดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ในขณะที่กรรมการอีก 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 BPS เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจน และโดยคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

เศรษฐกิจไทยในปี 2567

เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ล่าช้า การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงมาก และแรงกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ในขณะที่ในปี 2567 ปัจจัยลบเหล่านี้จะทยอยลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน อยู่ที่ 2.6% ในปี 2567 และ 3.0% ในปี 2568 โดยมีแรงสนับสนุนจาก

  • ภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน
  • การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องแม้จะชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวสูง
  • การใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

ขณะที่การส่งออกและการผลิตเผชิญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจำกัด

มุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อ

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567

  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ในปี 2567 และ 1.3% ในปี 2568
  • อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% ในปี 2567 และ 0.9% ในปี 2568

ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดลงของราคาอาหารสดบางกลุ่มเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจากราคากลุ่มพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งหากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ภายในปลายปีนี้ โดยต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน

ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว

ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้ ขณะที่ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ในภาพรวมยังขยายตัว

อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญภาวะการเงินที่ตึงตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงสินเชื่อมาต่อเนื่อง ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า สอดคล้องกับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่คาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่เร่งตัวแบบก้าวกระโดด

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงพิจารณาว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด


ข้อมูลอ้างอิง

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: