Inverted Yield Curve คืออะไร? เกิดจากอะไรและมีกลไกอย่างไร

เผยแพร่เมื่อ

ใน

Inverted Yield Curve คือ เส้นผลตอบแทน พันธบัตร กลับด้าน Yield Curve

Inverted Yield Curve คือ เส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) กลับด้านจากปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว จากการที่นักลงทุนหันไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากกว่าระยะสั้นในภาวะที่นักลงทุนกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ลักษณะของเส้น Inverted Yield Curve คือ เส้นผลตอบแทน (Yield Curve) ที่ลาดลงจากซ้ายไปขวากลับด้านจากปกติ ซึ่งตามปกติเส้น Yield Curve จะลาดขึ้นจากซ้ายไปขวาเพราะตามปกติยิ่งอายุของพันธบัตรยิ่งยาวผลตอบแทนจะยิ่งสูงตาม

กราฟ Inverted Yield Curve คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในภาวะเศรษฐกิจหรือภาวะที่นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจกำลังจะแย่ จนทำให้เกิดการย้ายไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวจนทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรมากกว่าระยะสั้นจนกลายเป็น Inverted Yield Curve ซึ่งการที่นักลงทุนรู้ตัวและย้ายเงินลงทุนจึงทำให้เส้น Inverted Yield Curve มักเกิดขึ้นในช่วงที่วิกฤตเศรษฐกิจกำลังมาถึงในเวลาอันใกล้

ในอดีต Inverted Yield Curve ทำนายจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้องหลายต่อหลายครั้ง อย่างวิกฤต Subprime เมื่อปี 2008 กราฟ Inverted Yield Curve ก็เกิดขึ้นในปลายปี 2007 ก่อนที่เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้น (เพราะนักลงทุนรู้ตัวจึงรีบย้ายเงินออก)

ทั้งหมดส่งผลให้ Inverted Yield Curve เป็นเครื่องมือที่นักลงทุนไม่น้อยใช้เป็ยสัญญาณในการทำนายภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ (Recession) จากบรรยากาศของตลาดนั่นเอง

Yield Curve ในภาวะปกติ

Yield Curve คือ เส้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) เทียบกับอายุตราสารหนี้ (Maturity) ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจปกติอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะสูงกว่าระยะสั้น

การที่พันธบัตรระยะยาวมีความเสี่ยงสูงกว่าส่งผลให้พันธบัตรระยะยาวไม่เป็นที่ต้องการของนักลงทุน เพราะการถือพันธบัตรระยะยาวมีความเสี่ยงสูงกว่าระยะสั้นในขณะที่เงินลงทุนต้องจมอยู่ในพันธบัตรเป็นระยะเวลาที่นานกว่า จึงทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงกว่าตามกลไกของดอกเบี้ยเงินกู้ (พันธบัตรคือการกู้เงินจากนักลงทุน)

Yield Curve คือ เส้น ผลตอบแทนพันธบัตร เส้น Yield Curve กลับด้าน
เส้น Yield Curve หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในภาวะปกติ

นอกจากนี้ ในตลาดรองเมื่อตราสารหนี้ระยะยาวไม่เป็นที่ต้องการก็จะทำให้ราคาซื้อขายของตราสารหนี้ระยะยาวต่ำกว่ามูลค่า Face Value ที่อยู่หน้าตราสารหนี้ในขณะที่ดอกเบี้ยที่ได้รับยังเท่าเดิมจึงทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรที่ไม่เป็นที่ต้องการสูงขึ้น

ตัวอย่างเช่น พันธบัตร Face Value 1,000 บาท ให้ดอกเบี้ย 1% หรือ 10 บาท แม้คุณจะซื้อต่อพันธบัตรมาด้วยราคา 900 บาท ดอกเบี้ยก็ยังคงเป็น 10 บาทเท่าเดิม หมายความว่า Yield หรือผลตอบแทนจากการซื้อต่อในราคา 900 บาทคือ 1.11% (10/900*100) ซึ่งสูงกว่า

ทั้งหมดคือเหตุผลว่าทำไมกราฟ Yield Curve ในภาวะปกติจะเป็นเส้นที่ชันขึ้นจากซ้ายไปขวา ตามอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามอายุตราสารหนี้ (Maturity) ที่ยิ่งมีระยะยาวยิ่งให้ผลตอบแทน (Yield) ที่สูงขึ้น

Inverted Yield Curve เกิดจากอะไร

ในทางกลับกัน Inverted Yield Curve คือ สิ่งที่เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันหรือในอนาคตอันใกล้ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะลงทุนในพันธบัตรระยะยาวแทน จึงส่งผลให้พันธบัตรระยะสั้นกลายเป็นรุ่นอายุที่ไม่เป็นที่ต้องการ

เพราะถ้าหากว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงตามที่นักลงทุนคาดการณ์ สิ่งที่ตามมาคือความผันผวนของตลาดทุนและการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง การถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเอาไว้จะทำให้แม้ว่าธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยพันธบัตรออกใหม่ลดลงตาม) นักลงทุนก็จะยังถือพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรที่ออกใหม่ในอนาคต

แต่ด้วยกลไกของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) การที่ทุกคนต้องการพันธบัตรระยะยาวจะทำให้ราคาซื้อขายในตลาดรองเพิ่มขึ้น จนทำให้อาจต้องซื้อพันธบัตรมูลค่า 1,000 บาท ดอกเบี้ย 1% (จากตัวอย่างเดิม) ในราคา 1,100 บาท ซึ่งทำให้ผลตอบแทน (Yield) ลดลงเหลือ 0.91% (10/1100*100)

ส่งผลทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ระยะยาวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระยะสั้นจนกลายเป็นเส้น Inverted Yield Curve หรือเส้น Yield Curve ตามภาพกราฟ Inverted Yield Curve ด้านล่าง

Inverted Yield Curve คือ เส้น ผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาล กลับด้าน
กราฟ Inverted Yield Curve ที่เกิดขึ้นจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว

สรุป Inverted Yield Curve คือ สถานการณ์ที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นไปจนถึงระยะยาวผิดปกติตามชื่อ (Inverted Curve) จากปกติที่ Bond Yield ของการนำเงินทิ้งไว้ในพันธบัตรนานกว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่กลายเป็นว่า Bond Yield ระยะสั้นกลับสูงกว่าเนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตรระยะยาวและไม่มีใครต้องการพันธบัตรระยะสั้น

ทั้งหมดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดขึ้นมา และเมื่อนำตัวเลขผลตอบแทน (Yield) มาพลอตเป็นกราฟก็จะได้เป็นกราฟที่ลาดลงจากซ้ายมาขวาที่เรียกว่า Inverted Yield Curve แทนที่จะชันขึ้นจากซ้ายขึ้นไปขวาแบบกราฟแรก

ข้อมูลอ้างอิงจาก: Thebalance, CNBC

กราฟจาก: GreedisGoods

ติดตามเรา:

บทความโดย

แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อ

เกี่ยวกับ: