เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นในขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของเงินลดลง ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) จะทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมไม่สามารถซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิมได้อีกต่อไป โดยการที่อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงทำให้ผู้บริโภคต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าเท่าเดิม
ตัวอย่างของ เงินเฟ้อ (Inflation) แบบง่าย ๆ คือการที่เมื่อ 5 ปีก่อนเงิน 60 บาทสามารถซื้อสปาเก็ตตี้ได้ 1 จาน แต่ปัจจุบัน 60 บาทไม่พอที่จะซื้อสปาเก็ตตี้ 1 จานได้อีกต่อไป จะเห็นว่ากำลังซื้อ (Purchase Power) ของเงิน 100 บาทในปัจจุบันลดลงจากเมื่อก่อนจนทำให้ไม่สามารถซื้อสปาเก็ตตี้ได้เหมือนเดิมนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อ (Inflation) ไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป เงินเฟ้อคือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วในทุกระบบเศรษฐกิจ แต่ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยแต่ละประเทศก็จะมีการตั้งอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย (Inflation Targeting) เพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อในประเทศ ส่วนเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาคืออัตราเงินเฟ้อที่สูงมากเกินปกติ
โดยเงินเฟ้อ (Inflation) คือ ตัวเลขหนึ่งที่สามารถสะท้อนสภาพเศรษฐกิจให้เห็นว่าประเทศนั้น ๆ มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากแค่ไหนในกรณีที่เป็นเงินเฟ้อที่เกิดจาก Demand Pull (คนมีเงินใช้มากขึ้น) และสะท้อนถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่เป็นภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจาก Cost Push
สาเหตุของเงินเฟ้อ
สาเหตุของเงินเฟ้อสามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ ความต้องการสินค้าที่มากขึ้น (Demand Pull) และต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Cost Push)
Demand Pull คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากการที่ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าและบริการเหล่านั้นมีอยู่ไม่เพียงพอ จนส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามกลไกอุปสงค์ อุปทาน (Demand & Supply) ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคมีเงินใช้มากขึ้นเพราะเศรษฐกิจดีมาก และการที่มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
Cost Push คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากการที่ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (ทำให้ผู้ขายต้องขึ้นราคาสินค้า)
ผลกระทบจากเงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อ คือ สิ่งที่จะทำให้กำลังซื้อของเราลดลงหรือมูลค่าที่แท้จริงของเงินลดลง ทั้งหมดจะส่งผลให้ต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิม โดยผลกระทบของเงินเฟ้อที่สามารถเห็นได้เป็นรูปธรรม ได้แก่
- ค่าครองชีพสูงขึ้น จากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น
- ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น จากการที่สินค้าที่เป็นวัตถุดิบของสินค้าอีกหนึ่งเพิ่มขึ้น
- มูลค่าที่แท้จริงของเงินลดลง การปล่อยเงินทิ้งไว้เฉย ๆ โดยไม่ลงทุนจะทำให้เมื่อเวลาผ่านไปเงินก้อนนั้นจะไม่สามารถซื้อสินค้าได้เท่าเดิม
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ คือ ผู้ที่ต้องรับเงินในอนาคตโดยที่ไม่ปรับตามเงินเฟ้อ เช่น A ติดหนี้ B 100,000 บาทโดยจะจ่ายคืนใน 6 ปี แต่ถ้าหากผ่านไป 6 ปี อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น 10% หรือก็คือของที่ซื้อได้ในราคา 100,000 เมื่อ 6 ปีก่อน ปัจจุบันต้องใช้เงิน 110,000 บาท แต่หนี้ที่ A ต้องใช้ B ก็คือ 100,000 เท่าเดิม จะเห็นว่า B เสียผลประโยชน์จากการขาดทุน 10,000 บาทเมื่อเทียบเงินจำนวนดังกล่าวเป็นกำลังซื้อ
ใครดูแลเงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อ คือ เรื่องของระดับราคาสินค้าและเงินในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูและรับมือภาวะเงินเฟ้อแต่ละประเทศก็คือธนาคารกลาง (Central Bank) ผ่านการเครื่องมือทางการเงินอย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) ด้วยมาตรการควบคุมราคาสินค้า
โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) สามารถติดตามได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index หรือ CPI) ของแต่ละประเทศที่จะประกาศออกมารายเดือน
สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศไทยสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) และกระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) โดยตัวเลขเงินเฟ้อจะถูกประกาศออกมาในทุก ๆ เดือน
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Clevelandfed, Investopedia, Thebalance