• Post category:Investment

พันธบัตรรัฐบาล คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเพื่อกู้ยิมเงินจากนักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยนักลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาลและกระทรวงการคลังจะมีฐานะเป็นลูกหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ (Coupon Rate) ให้กับนักลงทุนจนครบกำหนดไถ่ถอนที่นักลงทุนจะได้รับเงินคืน

การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือการที่นักลงทุนนำเงินไปให้รัฐบาลยืมผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยราคาพันธบัตรเทียบได้กับเงินต้นของการกู้ยืมเรียกว่า Par Value หรือ Face Value และดอกเบี้ยที่กำหนดเอาไว้หน้าพันธบัตรจะเรียกว่า Coupon Rate

ความเสี่ยงของการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้เหมือนกับการให้กู้ยืมเงินทั่วไป เพียงแต่โอกาสที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้มีโอกาสที่ต่ำมาก เนื่องจากโอกาสผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลคือการที่ประเทศล่มสลายหรือใช้เงินจนหมดคลังจนไม่สามารถจ่ายหนี้ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก ทำให้พันธบัตรรัฐบาลจัดเป็นสินทรัพย์ปลอดความเสี่ยง (Risk Free)

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล คือ ดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลตามที่ระบุเอาไว้บนพันธบัตร (เรียกว่า Coupon Rate) นอกจากนี้จำนวนครั้งที่พันธบัตรแต่ละรุ่นจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีก็อาจจะมีจำนวนที่ไม่เท่ากัน (โดยปกติจะจ่ายปีละ 1 ถึง 2 ครั้ง)

นอกจากนี้ พันธบัตรรัฐบาลเองก็จะมี 2 ตลาดคล้ายกับตลาดของหุ้นคือ ตลาดแรก (Primary Market) และตลาดรอง (Secondary Market)

ตลาดแรก (Primary Market) คือ ตลาดที่เป็นตลาดสำหรับซื้อขายพันธบัตรออกใหม่ โดยส่วนใหญ่จะเสนอขายให้แต่กับนักลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนระดับหลายล้าน เช่น นักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบัน

ตลาดรองของพันธบัตร (Secondary Market) คือ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนมือตั้งแต่มือที่ 2 เป็นต้นไป โดยราคาพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองก็จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามปริมาณความต้องการพันธบัตรรุ่นดังกล่าว (เทียบได้กับการซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นในตลาดหุ้น) ทำให้นักลงทุนสามารถทำกำไรจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนพันธบัตรในตลาดรอง เนื่องจากถ้าหากพันธบัตรเป็นรุ่นที่เป็นที่ต้องการก็จะสามารถขายต่อในราคาที่แพงกว่าราคาพันธบัตรได้

ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 2 แสนบาท (ให้รัฐบาลกู้ 2 แสนบาท) แต่ถ้าหากพันธบัตรรุ่นดังกล่าวเป็นที่ต้องการก็อาจทำให้สามารถขายได้ในราคา 250,000 บาท

นอกจากนี้ การที่นักลงทุนซื้อต่อพันธบัตรมาในราคาที่ต่ำกว่า Face Value (เนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการ) ตัวอย่างเช่น ซื้อพันธบัตรมูลค่า 1 แสนบาทมาในราคา 9 หมื่นบาท เมื่อนำไปไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดคุณก็จะยังได้ 1 แสนบาทตามที่ระบุไว้ในพันธบัตร (ทั้งที่ซื้อต่อมาในราคา 9 หมื่น

Bond Yield ของพันธบัตร

แม้ว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะอยู่ในรูปของดอกเบี้ยตามที่ระบุบนพันธบัตร (Coupon Rate) แต่การซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดรองทำให้ต้นทุนของพันธบัตรรัฐบาลแต่ละคนไม่เท่ากันทำให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับไม่เท่ากัน จึงจำเป็นที่จะต้องคำนวณผลตอบแทนเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ ซึ่งจะเรียกว่า Bond Yield

Bond Yield = (Coupon Payment / ราคาพันธบัตร) x 100

Bond Yield ตามปกติจะมีทิศทางตรงข้ามกับราคาพันธบัตร ยิ่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาในราคาแพง Bond Yield ก็จะยิ่งลดลง ในกลับกันข้ามถ้าหากยิ่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาในราคาต่ำ Bond Yield ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะไม่ว่านักลงทุนจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาด้วยราคาเท่าไหร่ ดอกเบี้ยก็จะยังเท่าเดิมตาม Coupon Rate อยู่ดี

สมมติว่า พันธบัตรรัฐบาลรุ่น F มูลค่า 1 ล้านบาท ให้ผลตอบแทน 1 หมื่นบาทต่อปี ในตลาดรองซื้อขายกันอยู่ที่ 1,100,000 บาท สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนซื้อพันธบัตรมาในราคามากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากับราคาพันธบัตรรัฐบาล จะมีดังนี้

  • ซื้อมาในราคา 1 ล้านบาท (ราคาตลาดแรก) Bond Yield = (10,000 / 1,000,000) x 100 = 1%
  • ซื้อมาในราคา 1 ล้าน 1 แสนบาท (แพงกว่า) Bond Yield = (10,000 / 1,100,000) x 100 = 0.9%
  • ซื้อมาในราคา 9 แสนบาท (ถูกกว่า) Bond Yield = (10,000 / 900,000) x 100 = 1.1%

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) แบบละเอียดได้ในบทความ: Bond Yield คืออะไร? อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีกลไกอย่างไร

ข้อมูลอ้างอิงจาก: GreedisGoods, Vanguard, Investor.gov

Finvestory

บทความเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ในโลกที่ทุกคนต่างลงทุน