• Post category:Investment

Future คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่คู่สัญญาจะตกลงจำนวนและราคาของสินค้าอ้างอิง (Underlying Asset) แล้วทำการส่งสินค้ามอบกันตามวันที่ได้กำหนดวันเอาไว้ใน Future Contract ด้วยราคาและจำนวนสินค้าที่ตกลงกันเอาไว้แม้ว่าราคาของสินค้าอ้างอิงจะเปลี่ยนไปแล้ว (ถูกลงหรือแพงขึ้น) ในวันที่ส่งมอบก็ตาม

ตัวอย่างเช่น A ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ของน้ำมันดิบ WTI กับ B ที่เป็นผู้ผลิตน้ำมัน โดยกำหนดส่งมอบในอีก 3 เดือนข้างหน้าด้วยราคา 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ในขณะที่ปัจจุบันน้ำมันราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล

เหตุผลที่ A กับ B ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Oil Future มีดังนี้

  • ฝ่าย A ที่เป็นผู้ซื้อน้ำมันคาดว่าในอีก 3 เดือนราคาน้ำมันจะแพงขึ้นกว่านี้อีกมาก
  • ฝ่าย B ที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันคาดว่าในอีก 3 เดือนราคาน้ำมันจะถูกลงกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อครบกำหนดส่งมอบถ้าหากราคาน้ำมันดิบ WTI แพงขึ้นจริง สมมติว่าแพงขึ้นเป็น 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล A ก็จะยังคงสามารถซื้อน้ำมันได้ในราคา 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ส่วน B ก็จะต้องขายให้ A ในราคานี้แม้ว่าราคาจริงจะเพิ่มขึ้นแล้ว ในทางกลับกันถ้าหากราคาน้ำมันดิบ WTI ถูกลง สมมติว่าราคาน้ำมันลดลงเหลือ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล เมื่อถึงเวลาส่งมอบตามที่กำหนดเอาไว้ใน Future Contract A ก็จะต้องซื้อในราคา 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล (แม้ว่าราคาจริงจะเหลือแค่ $45)

อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อและผู้ขายในสัญญา Future ไม่จำเป็นที่จะต้องถือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวเอาไว้จนครบกำหนด สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำตามสัญญาในตัวอย่างด้านบนจะเกิดขึ้นเมื่อถือสัญญาเอาไว้จนครบกำหนด

สำหรับสินทรัพย์อ้างอิงของ Future Contract (Underlying Asset) อื่น ๆ ที่พบเห็นได้บ่อยในตลาด ได้แก่

  • สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Future)
  • สัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า (Oil Future) ที่อ้างอิงจากราคาน้ำมันดิบในแต่ละตลาด ไม่ว่าจะเป็น Brent หรือ WTI
  • สัญญาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (Commodities Future) เช่น น้ำตาล ข้าวโพด ช็อกโกแลต น้ำ โลหะเงิน และทองแดง
  • ดัชนีหุ้น (Index Future) เช่น SET50 Future และ S&P 500 Future
  • นอกจากนี้ ในตลาดใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาอาจได้เห็นสินค้าอ้างอิงแปลก ๆ เช่น สัญญาการขนส่งสินค้า สภาพอากาศ ไปจนถึง พายุเฮอริเคน

Future มีไว้ทำไม

Future คือ เครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาที่ไม่แน่นอนของสินค้าอ้างอิง (Underlying Asset) ในอนาคต ถ้าหาคุณเป็นบริษัทผลิตช็อกโกแลตคุณก็จะต้องการที่ได้ช็อกโกแลตมาในราคาที่แน่นอน การทำสัญญา Future คือสิ่งที่จะช่วยให้คุณได้ช็อกโกแลตในราคาที่แน่นอนไม่แกว่งไปตามความไม่แน่นอนของราคาตลาด

จากตัวอย่างสัญญา Future น้ำมันจะเห็นว่าการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระหว่าง A กับ B ช่วยประกันราคาน้ำมันที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้แต่ละฝ่าย

นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนก็อาจใช้ Future เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตได้เช่นกัน ด้วยการเปิดสัญญา Future ควบคู่ไปกับสินทรัพย์ที่ลงทุน

สำหรับใครที่รู้สึกว่าหลักการทำงานของ Future Contract (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า) คล้ายกับ Forward Contract แต่สิ่งที่ทำให้ Future ต่างจาก Forward คือการที่ต้องทำการซื้อขายผ่านนายหน้าทำให้สามารถวางเงินมัดจำได้ (Margin) ในขณะที่ Forward จะเป็นการซื้อขายกันเองโดยตรงของคู่สัญญา

อ้างอิงจาก: CME Group, GreedisGoods, Investor.gov

Finvestory

บทความเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ในโลกที่ทุกคนต่างลงทุน