ช้อปลดหย่อนภาษี 2567 มาตรการ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 50,000 บาท
ช้อปลดหย่อนภาษี 2567 คืออะไร?
ช้อปลดหย่อนภาษี 2567 คือ มาตรการ Easy E-Receipt ที่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดมาใช้เป็นค่าลดหย่อนในปีภาษี 2567 ตามที่จ่ายจริงได้สูงสุด 50,000 บาท
โดยจะต้องเป็นการซื้อสินค้าและบริการประเภทที่กรมสรรพากรกำหนด จากผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีแบบ e-Tax Invoice หรือใบรับแบบ e-Receipt ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อนำมาใช้ยื่นภาษีของปีภาษี 2567 (ที่ยื่นต้นปี 2568)
ผู้มีเงินได้ที่ต้องการใช้สิทธิช้อปลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt สามารถสังเกตสัญลักษณ์ Easy E-Receipt และ สัญลักษณ์ e-Tax Invoice & e-Receipt1 จากร้านค้าเพื่อช่วยเลือกซื้อสินค้าและบริการจากร้านที่สามารถใช้สิทธิช้อปลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt
เงื่อนไขช้อปลดหย่อนภาษี 2567 Easy E-Receipt
โดยเงื่อนไขของสินค้าและบริการที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ที่กรมสรรพากรกำหนดจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า/บริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถใช้ได้ทุกประเภทยกเว้นการซื้อสินค้าและบริการต่อไปนี้
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
2) ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า/บริการจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะใช้สิทธิได้เฉพาะรายการต่อไปนี้
- ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร (ทั้งแบบกระดาษและอีบุ๊ค)
- ค่าซื้อสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
หลักฐานลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt
หลักฐานที่ต้องใช้สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมาตรการ Easy E-Receipt คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
ผู้มีเงินได้ที่ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องขอ “ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป” ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี
ผู้มีเงินได้ที่ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องขอ “ใบรับ” ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี
ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อ และจะต้องเป็นชื่อผู้ซื้อที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพียงคนเดียวเท่านั้น
โดยกรมสรรพากรได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ประชาชนไม่ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีและจัดส่งให้กรมสรรพากรในการเข้าร่วมมาตรการโดยสามารถใช้ข้อมูล e-Tax Invoice ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และเจ้าหน้าที่จะไม่ขอให้ส่งใบกำกับภาษีอีก หากมีข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรแล้ว”2
ข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับมาตรการ Easy E-Receipt