• Post category:Economics

อุปสงค์ อุปทาน คือ แนวคิดพื้นฐานที่ใช้ในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดที่มีการแข่งขัน โดยอุปสงค์และอุปทาน (Demand และ Supply) คือความต้องการซื้อและความต้องการขายที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อราคาสินค้าในตลาด ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการซื้อสินค้าในแต่ละช่วงเวลา

อุปสงค์ (Demand) คือ ปริมาณความต้องการซื้อสินค้า อย่างไรก็ตามความต้องการซื้อที่สามารถซื้อสินค้าได้ (มีกำลังซื้อ) เท่านั้นจะถูกนับว่าเป็น Demand หรืออุปสงค์ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่ออุปสงค์ คือ อะไรก็ตามที่ส่งผลต่อความต้องการซื้อ เช่น รายได้ รสนิยมและกระแส คาดการณ์ราคาสินค้า ราคาของสินค้าทดแทน ไปจนถึงปัจจัยภายนอกอย่างฤดูกาล

อุปทาน (Supply) คือ ปริมาณความต้องการเสนอขายสินค้าที่มีอยู่ในตลาด โดยปัจจัยเบื้องต้นที่ส่งผลต่ออุปทาน คือ ราคาสินค้า ราคาสินค้าทดแทน และต้นทุนการผลิตสินค้า

ความสัมพันธ์ระหว่าง อุปสงค์ อุปทาน คือ การที่ทั้งสองเป็นด้านตรงข้ามที่มีผลต่อกัน ถึงแม้จะบอกว่าเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ความต้องการขายหรืออุปทาน (Supply) เพิ่มขึ้น แต่เมื่อปริมาณสินค้าเพิ่มมากขึ้น (Supply เพิ่ม) ก็จะทำให้ความต้องการสินค้าลดลงจนส่งผลให้ราคาสินค้าลดลง (เพราะสินค้าล้นตลาด) จนถึงจุดสมดุลที่อุปสงค์เท่ากับอุปทาน

และเมื่อในตลาดมีปริมาณ Demand เท่ากับ Supply ตลาดก็จะอยู่ในภาวะสมดุล โดยภาวะสมดุลนี้ในทางเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่า จุดดุลยภาพ (Equilibrium) ที่ความต้องการซื้อเท่ากับความต้องการขายสินค้าพอดี ซึ่งก็คือจุดที่เส้น Demand ตัดกับเส้น Supply ในกราฟด้านล่าง

อุปสงค์ อุปทาน กราฟ Demand Supply จุดดุลยภาพ equilibrium
กราฟแสดงจุดดุลยภาพ (Equilibrium) ที่จุดตัดของเส้นอุปสงค์และอุปทาน

กฎของอุปสงค์ (Law of Demand)

กฎของอุปสงค์ (Law of Demand) คือ กฎที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการซื้อสินค้ากับราคา (Price) ของสินค้า โดยกฎของอุปสงค์ได้อธิบายความสัมพันธ์ของความต้องการซื้อสินค้า (Demand) กับระดับราคาสินค้า (Price) เอาไว้ดังนี้

  • เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ความต้องการซื้อสินค้าจะลดลง
  • เมื่อราคาสินค้าลดลง ความต้องการซื้อสินค้าจะเพิ่มขึ้น
อุปสงค์ คือ Law of Demand คือ กฎของอุปสงค์ กราฟ
กราฟอุปสงค์ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและระดับความต้องการซื้อสินค้า (Demand)

กราฟกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) จะแสดงให้เห็นว่า ยิ่งราคาสินค้า (Price) เพิ่มขึ้น ระดับปริมาณความต้องการซื้อสินค้า (Quantity) จะลดลง

ในทางกลับกัน กราฟอุปสงค์ยังแสดงให้เห็นอีกว่ายิ่งปริมาณสินค้า (Quantity) มีน้อยหรือหามาขายได้ยาก ระดับราคาสินค้า (Price) ก็จะเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น แร่หายาก และของสะสมหายากต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าอยู่ 2 ชนิดที่ไม่เป็นไปตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) คือ สินค้าประเภท Giffen Goods และ Veblen Goods ที่ยิ่งราคาสูง แต่ระดับความต้องการซื้อไม่ได้ลดลง ตามกลไกของหลัก Demand ทั่วไป

กฎของอุปทาน (Law of Supply)

กฎของอุปทาน (Law of Supply) คือ กฎที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปทาน (Supply) หรือความต้องการขายสินค้ากับราคาสินค้า ที่แสดงให้เห็นว่าระดับความต้องการขายสินค้าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในทิศทางเดียวกับระดับราคาสินค้า โดยกฎของอุปทานได้อธิบายความสัมพันธ์ของความต้องการขายสินค้า (Supply) กับระดับราคาสินค้า (Price) เอาไว้ดังนี้

  • เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ความต้องการขายสินค้าจะเพิ่มขึ้น
  • เมื่อราคาสินค้าลดลง ความต้องการขายสินค้าจะลดลง

อธิบายให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ยิ่งราคาสินค้าเพิ่มขึ้นคนก็จะยิ่งต้องการขายสินค้านั้นมากขึ้น

อุปทาน คือ Law of Supply กฎของอุปทาน กราฟ Supply
กราฟอุปทาน แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและระดับความต้องการขายสินค้า (Supply)

กราฟกฎของอุปทาน (Law of Supply) จะแสดงให้เห็นว่า ยิ่งราคาสินค้า (Price) เพิ่มขึ้น ระดับความต้องการขายสินค้า (Quantity) จะเพิ่มขึ้นตาม แต่ถ้าหากสินค้ามีราคาที่ลดลง (Price) ระดับปริมาณความต้องการขายสินค้า (Quantity) ก็จะลดลงเช่นกัน

Finvestory

บทความเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ ในโลกที่ทุกคนต่างลงทุน