เงินอ่อนค่า เงินแข็งค่า คืออะไร?
เงินแข็งค่า เงินอ่อนค่า คือ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อนำเงิน 2 สกุลมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งการที่เงินสกุลหนึ่งมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่งหรือแลกเงินอีกสกุลได้มากขึ้นเรียกว่า “เงินแข็งค่า (Appreciation)” และการที่เงินสกุลหนึ่งมีค่าลดลงหรือแลกเงินอีกสกุลได้น้อยลงเรียกว่า “เงินอ่อนค่า (Depreciation)”
ดังนั้น เมื่อนำเงิน 2 สกุลมาเทียบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกันก็จะต้องมีเงินสกุลหนึ่งที่แข็งค่าและเงินอีกสกุลหนึ่งอ่อนค่าเสมอ
วิธีทำความเข้าใจเงินอ่อนค่าและเงินแข็งค่าที่ง่ายที่สุดคือการเปรียบเทียบเงินอีกสกุลหนึ่งเป็นสินค้า ถ้าหากต้องการรู้ว่าเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ คือสินค้าชนิดหนึ่ง
- ถ้าหากเงินบาทเท่าเดิมซื้อสินค้า (ดอลลาร์สหรัฐฯ) ได้มากขึ้น หมายความว่า เงินบาทแข็งค่า
- แต่ถ้าเงินบาทเท่าเดิมซื้อสินค้า (ดอลลาร์สหรัฐฯ) ได้น้อยลง หมายความว่า เงินบาทอ่อนค่า
เงินบาทอ่อนค่า คืออะไร?
เงินบาทอ่อนค่า คือ การที่เงินบาทมีค่าลดลงหรือสามารถแลกเงินอีกสกุลหนึ่งได้น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า
ตัวอย่างเช่น จากเดิมเงิน 33 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันต้องใช้เงินบาทถึง 36 บาทเพื่อแลกเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หมายความว่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยการที่เงินบาทอ่อนค่ามีสาเหตุมาจากปริมาณความต้องการเงินบาทลดลง (ต้องการแลกเงินบาทเป็นสกุลเงินอื่นมากกว่าต้องการแลกเงินสกุลอื่นเป็นเงินบาท) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการขาดดุลการค้า (นำเข้ามากกว่าส่งออก), การย้ายเงินทุนของนักลงทุนออกจากประเทศไทย, และจากการที่เงินอีกสกุลแข็งค่า

เงินบาทอ่อนค่า ใครได้ประโยชน์
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า คือ ผู้ที่ต้องการแลกเงินสกุลอื่นเป็นเงินบาท เช่น ผู้ส่งออกสินค้าจากไทย ลงทุนที่ขนเงินเข้ามาลงทุนในไทย นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวไทย และผู้ที่กู้เงินจากต่างประเทศ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น บริษัท A ส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกา ถ้าสินค้าราคาชิ้นละ 32 บาท ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ การซื้อสินค้า 1 ชิ้นจะใช้เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ พอดี
เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงเหลือ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้นำเข้าชาวสหรัฐฯ จะซื้อสินค้าได้ 1.125 ชิ้นต่อเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือก็คือซื้อสินค้า 1 ชิ้นด้วยเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วยังเหลือเงินอีก 4 บาท
ในทางกลับกันผู้ที่เสียประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่าคือผู้ที่ต้องแลกเงินบาทเป็นเงินสกุลอื่น (หรือก็คือผู้ที่เคยได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า) ซึ่งจะแลกเงินบาทเป็นเงินสกุลอื่นได้น้อยลง
เงินบาทแข็งค่า คืออะไร?
เงินบาทแข็งค่า คือ การที่เงินบาทจำนวนเท่าเดิมสามารถแลกเงินอีกสกุลหนึ่งได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า
ตัวอย่างเช่น จากเดิมต้องใช้ 46 บาทเพื่อแลกเงิน 1 ปอนด์สเตอร์ลิง แต่ปัจจุบันใช้เงินเพียง 43 บาทก็สามารถแลกเงิน 1 ปอนด์สเตอร์ลิงได้แล้ว หมายความว่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินปอนด์สเตอร์ลิง
โดยการที่เงินบาทแข็งค่ามีสาเหตุมาจากปริมาณความต้องการเงินบาทเพิ่มขึ้น (ต้องการแลกเงินอื่นเป็นสกุลเงินบาท มากกว่าต้องการแลกเงินบาทเป็นสกุลเงินอื่น) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการเกินดุลการค้า (ส่งออกมากกว่านำเข้า), การย้ายเงินทุนเข้ามาลงทุนในไทยของนักลงทุนต่างประเทศ, และจากการที่เงินอีกสกุลอ่อนค่า

เงินบาทแข็งค่า ใครได้ประโยชน์
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า คือ ผู้ที่ต้องการแลกเงินบาทเป็นเงินอีกสกุลหนึ่ง เช่น ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ชาวไทยที่เที่ยวต่างประเทศ และผู้ที่ต้องจ่ายหนี้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น บริษัท B กู้เงินจากธนาคารอังกฤษ 10,000 ปอนด์สเตอร์ลิง โดยขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 46 บาทต่อ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง นั่นหมายความว่าบริษัท B จะได้เงินจากการกู้ทั้งหมด 460,000 บาท
เมื่อครบกำหนดชำระหนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์สเตอร์ลิง ในอัตรา 42 บาทต่อ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง ดังนั้นบริษัท B สามารถใช้เงินเพียง 420,000 บาทแลกเป็นเงิน 10,000 ปอนด์สเตอร์ลิงเพื่อชำระหนี้ (ไม่รวมดอกเบี้ย) ได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมด 40,000 บาท
ในทางกลับกันผู้ที่เสียประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่าคือผู้ที่ต้องการแลกเงินสกุลอื่นเป็นเงินบาท (หรือก็คือผู้ที่เคยได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า) ซึ่งจะต้องใช้เงินสกุลอื่นมากขึ้นเพื่อแลกเป็นเงินบาท
คำถามที่พบบ่อย
เงินบาทอ่อนค่า คือ การที่เงินบาทมีค่าลดลงหรือสามารถแลกเงินอีกสกุลหนึ่งได้น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการเงินบาทลดลง
เงินบาทแข็งค่า คือ การที่เงินบาทจำนวนเท่าเดิมสามารถแลกเงินอีกสกุลหนึ่งได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการเงินบาทเพิ่มขึ้น
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า คือ ผู้ที่ต้องการแลกเงินบาทเป็นเงินอีกสกุลหนึ่ง เช่น ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ชาวไทยที่เที่ยวต่างประเทศ และผู้ที่ต้องจ่ายหนี้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ เป็นต้น
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า คือ ผู้ที่ต้องการแลกเงินบาทเป็นเงินอีกสกุลหนึ่ง เช่น ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และผู้ที่ต้องจ่ายหนี้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ
ข้อมูลอ้างอิงจาก: อัตราแลกเปลี่ยน GBP/THB จาก XE.com, อัตราแลกเปลี่ยน USD/THB จาก XE.com, GreedisGoods