หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนเพื่อแสดงการกู้ยืมเงิน (เหมือนสัญญากู้เงิน) โดยนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ (Corporate Bond) จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกขายหุ้นกู้เพื่อหาเงินทุนเพื่อนำเงินทุนไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจ ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนของการลงทุน
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น หุ้นกู้ (Corporate Bond) คือ การกู้เงินของบริษัท โดยที่ผู้ออกขายหุ้นกู้ (บริษัท) จะอยู่ในฐานะลูกหนี้ ส่วนนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้คือเจ้าหนี้ที่ ซึ่งจะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย
ความแตกต่างระหว่างหุ้นสามัญ (Common Stock) กับหุ้นกู้ (Corporate Bond) คือ นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นสามัญฐานะเป็นเจ้าของธุรกิจ นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ดังนั้นถ้าหากบริษัทที่ออกหุ้นกู้เกิดล้มละลาย ผู้ที่จะได้เงินคืนก่อนก็คือผู้ที่ซื้อหุ้นกู้เพราะเจ้าของบริษัทต้องใช้เงินคืนเจ้าหนี้
สำหรับการลงทุนกับหุ้นกู้ นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นกู้ได้ 2 กรณี คือ หุ้นกู้ที่ออกขายให้คนทั่วไป (Public Offering) และหุ้นกู้ที่ขายให้เฉพาะรายใหญ่ โดยส่วนใหญ่หุ้นกู้ส่วนใหญ่จะขายที่ธนาคาร (แต่ไม่ใช่ทุกธนาคาร) จึงเป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะต้องศึกษาเองว่าหุ้นกู้ที่สนใจขายที่ธนาคารไหน เปิดให้จอง และเปิดขายวันไหน
ผลตอบแทนของหุ้นกู้
ผลตอบแทนของผู้ที่ลงทุนใน หุ้นกู้ คือ ดอกเบี้ย (Interest) ตามที่แสดงอยู่บนหุ้นกู้ โดยทั่วไปดอกเบี้ยของหุ้นกู้จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
- ดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่ถือ เช่น หุ้นกู้ระยะเวลา 10 ปี ปีที่ 1-3 จ่ายดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี ปีที่ 4-5 จ่าย 3% ต่อปี และปีที่ 6-10 จ่าย 5% ต่อปี
- ดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) เท่าเดิมตลอดระยะเวลาของหุ้นกู้ ไม่มีเปลี่ยนแปลง
ในเบื้องต้นรายละเอียดของหุ้นกู้ ประกอบด้วย ดอกเบี้ย (Coupon Rate), อายุไถ่ถอนตราสาร (Tenor), และ มูลค่าต่อหน่วยหรือมูลค่าที่ตราไว้ (Par value หรือ Face value) เป็นมูลค่าที่ผู้กู้ต้องจ่ายคืนเมื่อครบกำหนด (เทียบได้กับเงินต้น) ซึ่งตามปกติจะกำหนดมูลค่าเอาไว้ที่ 1,000 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ อีกสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญคือเงื่อนไขของช่วงระยะเวลาในการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon Frequency) ที่อยู่หลายแบบ เช่น จ่ายทุก 3 เดือน จ่ายทุก 6 เดือน และจ่ายทุก 12 เดือน
ความเสี่ยงของหุ้นกู้
ความเสี่ยงของ หุ้นกู้ คือ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ไม่ต่างจากการปล่อยกู้ทั่วไป ดังนั้น ห้ามคิดว่าบริษัทมหาชนในระดับที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นจะไม่มีทางล้มหรือผิดนัดชำระหนี้ การลงทุนกับหุ้นกู้นักลงทุนควรศึกษาความเสี่ยงของบริษัทที่ออกหุ้นกู้อย่างถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัท (Credit Rating) และผลการดำเนินงานของบริษัท
- เครดิตความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ (Credit Rating) คือ การจัดลำดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ โดยบริษัทจัดอันดับ
- งบการเงินของบริษัท โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความสามารถในการจ่ายหนี้ของบริษัท
ในส่วนนี้แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Credit Rating แบบละเอียดได้ที่บทความ: Credit Rating คืออะไร
ทำไมบริษัทต้องออกหุ้นกู้
เหตุผลที่บริษัทเลือกที่จะออกหุ้นกู้เพื่อหาเงินทุน แทนที่จะออกหุ้นสามัญเพิ่มเป็นเพราะหุ้นกู้ (Corporate Bond) มีข้อได้เปรียบใหญ่ ๆ อยู่ 2 ประเด็น ได้แก่
หุ้นกู้ คือ หนี้สินทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินปันผล จ่ายเพียงแค่ดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ ไม่ว่าบริษัทจะได้กำไรมากหรือน้อยแค่ไหนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็จะยังคงเท่าเดิม ดังนั้นถ้าบริษัทสร้างผลตอบแทนได้สูงมากจากเงินทุนที่กู้มา กำไรของบริษัทก็จะไม่หายไปมากเท่ากับการออกหุ้นเพิ่มเพื่อหาเงินลงทุนที่จะมีตัวหารกำไรเพิ่มขึ้น
นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้เป็นเจ้าหนี้ ไม่ได้เป็นเจ้าของเหมือนหุ้นสามัญ การออกหุ้นกู้ทำให้บริษัทได้เงินลงทุนเพิ่ม โดยที่สัดส่วนการถือหุ้นยังไม่เปลี่ยน ทำให้อำนาจบริหารยังคงเท่าเดิม
ข้อมูลอ้างอิงจาก: SEC, GreedisGoods, Investor.gov