CEO คือใคร? รับผิดชอบอะไร ทำไมนักลงทุนมักให้ความสนใจ

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

CEO คือ Chief Executive Officer คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ตำแหน่ง CEO เป็นตำแหน่งที่มักจะถูกกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกันว่า CEO คือใคร มีหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบอะไร บริษัทแบบไหนถึงจะต้องมีตำแหน่งนี้อยู่ และพวกเขาเหล่านี้ใช่เจ้าของบริษัทหรือไม่

และในส่วนสุดท้ายเราจะพาไปทำความเข้าใจในมุมมองของนักลงทุนว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้นักลงทุนอย่างเราจะต้องสนใจว่าใครเป็น CEO ตลอดจนทำไมต้องสนใจว่าพวกเขามีวิธีคิดและทัศนคติอย่างไร

CEO คืออะไร?

CEO หรือ Chief Executive Officer คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่สุดในองค์กร ทำหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจที่สำคัญและเป็นผู้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์โดยรวมขององค์กร

ในภาพรวม CEO ดูแลในประเด็นเกี่ยวกับการทำให้บริษัทมีผลกำไร ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้เพื่อการเติบโตและความสำเร็จขององค์กร ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินงานในการตัดสินใจที่สำคัญหรือการดำเนินการตามการตัดสินใจของคณะกรรมการ เพื่อดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

นอกจากนั้น ในองค์กรขนาดใหญ่ที่มี “ผู้บริหารระดับสูง” ที่เราเรียกว่า “C-Level” อื่น อย่างเช่น CFO (Chief Financial Officer), COO (Chief Operating Officer), และ CTO (Chief Technology Officer) ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้จะรายงานผลการดำเนินงานในส่วนงานของตนเองต่อ CEO โดยตรง หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้น CEO มีอำนาจตัดสินใจเหนือตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอื่น ๆ

ตำแหน่ง CEO รับผิดชอบอะไร?

ขอบเขตความรับผิดชอบของ CEO อย่างชัดเจนจะแตกต่างกันไม่มากก็น้อยในแต่ละธุรกิจ ในแต่ละวัฒนธรรมองค์กร และในแต่ละโครงสร้างองค์กร ซึ่งโดยทั่วไปหน้าที่ของ CEO มักจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่ ดังนี้

  • กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เช่น วิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และเป้าหมายระยะสั้น (Objectives) สำหรับใช้เป็นแนวทางในการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ตลอดจนการตรวจสอบและวิเคราะห์เพื่อปรับปรุง
  • วิเคราะห์และจัดการความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงทางการเงิน การดำเนินงาน และชื่อเสียง รวมถึงติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมและสภาวะตลาดเพื่อระบุโอกาสและภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร
  • สร้างและนำทีมผู้บริหาร เพื่อมอบหมายความรับผิดชอบให้กับผู้จัดการคนอื่น ๆ
  • เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจต่อสิ่งที่ส่งผลสำคัญกับองค์กร เช่น การลงทุนครั้งใหญ่ การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ และการริเริ่มเชิงกลยุทธ์อื่น ๆ
  • ออกแบบและจัดการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กรให้มีลักษณะที่ชัดเจน
  • สร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เช่น ลูกค้า นักลงทุน และพนักงานภายในองค์กร อย่างที่เราจะเห็นว่าในหลายองค์กร CEO ชื่อดัง อย่างเช่น Apple Google Microsoft Nvidia ที่ใช้ CEO เป็นตัวแทนขององค์กรในการสื่อสารวิสัยทัศน์ขององค์กรสู่สาธารณชน

จะเห็นว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ CEO ก็คือการตัดสินใจในสิ่งสำคัญต่อองค์กรในภาพรวมในเชิงกลยุทธ์ที่ส่งผลว่าองค์กรจะดำเนินไปในทิศทางใดและจะทำอย่างไรให้องค์กรสามารถเดินไปในทิศทางดังกล่าวได้ไม่ต่างจากกัปตันเรือ

CEO ใช่เจ้าของบริษัทหรือเปล่า?

หลายครั้งที่เราต่างเห็นว่า CEO เป็นเจ้าของบริษัทที่ก่อตั้งหรือร่วมก่อตั้งบริษัทนั้นขึ้นมาซึ่งถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวในสัดส่วนที่สูงหรือสูงมาก

อย่างไรก็ตาม CEO ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่เป็นหุ้นส่วนหรือเจ้าของบริษัทเท่านั้น แต่อาจแต่งตั้งขึ้นมาจากใครก็ได้ที่ต้องการ ซึ่งในหลายองค์กร CEO ของพวกเขาก็มีสถานะเป็นเพียงพนักงานที่อาจจะไม่มีหุ้นอยู่เลยเสียด้วยซ้ำ แต่ได้รับการว่าจ้างจากคณะกรรมการบริหารให้มาทำหน้าที่ตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในกับองค์กรแลกกับค่าตอบแทนในรูปแบบของเงินเดือน โบนัส และสิ่งจูงใจอื่น เช่น Satya Nadella ของ Microsoft และ Sundar Pichai ของ Alphabet

CEO ที่มีสถานะเป็นเจ้าของ โดยส่วนมากมักจะพบได้ในบริษัทขนาดเล็กหรือบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นที่เจ้าของเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด และในทางกลับกันในบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัท CEO มักจะไม่มีส่วนได้เสียในบริษัทเลยเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งเท่านั้น

ธุรกิจแบบไหนจำเป็นต้องมี CEO?

ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ เราจะเห็นว่าในทุกองค์กรต้องการ CEO ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งองค์กรที่ไม่ใช่เอกชน เพราะทุกองค์กรต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำและตัดสินใจในภาพรวม

แม้จะพูดแบบนั้น แต่ในหลายองค์กรก็อาจจะไม่ได้มีตำแหน่ง CEO หรือ Chief Executive Officer แต่อาจมีการใช้ชื่อเรียกตำแหน่งที่มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ในลักษณะของ CEO แตกต่างกันไป อย่างเช่น “ประธาน” หรือ “กรรมการผู้จัดการ” เพื่อกล่าวถึงผู้ที่รับผิดชอบหน้าที่ดังกล่าว

ทำไมนักลงทุนสนใจ

การวิเคราะห์ ประเมิน และติดตามผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจที่เข้าไปลงทุนมีความสำคัญกับนักลงทุนที่ต้องการประเมินความเสี่ยงองค์กรดังกล่าว เนื่องจาก CEO เป็นผู้กำหนดทิศทางและบริหารจัดการองค์กรซึ่งจะนำพาบริษัทไปสู่ความสำเร็จและสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุน

นักลงทุนที่ประเมินความเสี่ยงของธุรกิจโดยมี CEO เป็นองค์ประกอบหนึ่งจึงมักจะให้ความสนใจต่อประเด็นเหล่านี้ควบคู่ไปกับการประเมินความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ของธุรกิจดังกล่าว

  • ประสบการณ์ของ CEO คนดังกล่าวในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือใกล้เคียงในอดีต
  • แนวโน้มของการกระจายความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ
  • ความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง
  • CEO คนนี้พาบริษัทไปเผชิญความเสี่ยงอย่างไม่มีความจำเป็นบ่อย ๆ หรือไม่

เมื่อนักลงทุนทราบข้อมูลเหล่านี้แล้วจะทำให้พอจะทราบได้ว่าองค์กรดังกล่าวจะดำเนินไปในทิศทางใด จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง หรือไม่มีโอกาสที่บางสิ่งจะเกิดภายใต้การนำของ CEO คนดังกล่าว

เกี่ยวกับ:

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: