ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางที่ให้สิทธิในการเป็นเจ้าหนี้กับนักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้ โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากตราสารหนี้ (Bond) ในรูปของดอกเบี้ยตามที่ระบุเอาไว้ในตราสารหนี้ และเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ออกตราสารหนี้จะต้องคืนเงินต้นให้กับนักลงทุน
อธิบายแบบง่าย ๆ ตราสารหนี้ คือ สัญญากู้เงินระหว่างผู้ออกตราสารหนี้กับนักลงทุน โดยผู้ออกตราสารหนี้อย่างรัฐบาล บริษัท หรือรัฐวิสาหกิจ จะมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” ส่วนนักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้มีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ที่จะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยจะยิ่งสูงขึ้นตามระยะเวลาไถ่ถอนของตราสารหนี้ (ยิ่งนาน ดอกเบี้ยยิ่งสูง)
โดยดอกเบี้ยของตราสารหนี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ที่ดอกเบี้ยจะเท่าเดิมตลอดอายุตราสารหนี้
- อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) อัตราดอกเบี้ยใจะเพิ่มหรือลดลงตามเงินเฟ้อในแต่ละช่วงเวลา
ดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่นักลงทุนจะได้รับยังสามารถแตกต่างกันได้จากช่วงเวลาในการจ่ายดอกเบี้ยของตราสารหนี้ เช่น จ่ายทุก 6 เดือน และจ่ายทุก 12 เดือน
ประเภทของตราสารหนี้
ตราสารหนี้ (Bond) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามผู้ที่เป็นผู้ออกขายตราสารหนี้ให้กับนักลงทุน คือ ตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารหนี้ภาคเอกชน
ตราสารหนี้ภาครัฐ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหน่วยงานที่ออกตราสารหนี้ก็จะเป็นหน่วยงานตามชื่อของตราสารหนี้เหล่านั้น ข้อดีของตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐคือโอกาสที่ภาครัฐจะผิดนัดชำระหนี้ทำให้เป็นตราสารหนี้ที่แทบจะไม่มีความเสี่ยงในการลงทุน (Risk Free)
ตราสารหนี้เอกชน คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน เรียกว่า หุ้นกู้ (Corporate Bond) ออกโดยบริษัทที่ต้องการนำเงินไปลงทุน เป็นตราสารหนี้ที่มีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะโดนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้ โดยตราสารหนี้เอกชนจะมีการจัดอันดับความเสี่ยง (Credit Rating) ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำสุด AAA AA A BBB BB B C และ D ที่ความเสี่ยงสูงสุด
ความเสี่ยงของตราสารหนี้
ตราสารหนี้ คือ การกู้เงิน ดังนั้นความเสี่ยงแรกสุกของตราสารหนี้ (Bond) ก็คือการผิดนัดชำระหนี้หรือความเสี่ยงจากการที่ลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้เหมือนกับหนี้ทั่วไป นอกจากนี้ตราสารหนี้ (Bond) ยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ อยู่อีกด้วยเช่นกัน ได้แก่
ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) เพราะตราสารหนี้ส่วนมากจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ให้กับผู้ลงทุน ดังนั้นถ้าหากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) เปลี่ยนแปลงไปราคาของตราสารหนี้ก็จะเปลี่ยนไปในทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ย
ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) คือ ความเสี่ยงจากการที่ผู้ลงทุนอาจจะเสียโอกาสในการใช้เงินทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ไปลงทุนกับสินทรัพย์อื่น เนื่องจากการลงทุนในตราสารหนี้เป็นการลงทุนที่นักลงทุนต้องทิ้งเงินไว้กับตราสารหนี้เป็นเวลานาน