Bond Yield คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในรูปของดอกเบี้ยจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดย Bond Yield สามารถคำนวณได้จากผลตอบแทนพันธบัตรต่อปีหารด้วยมูลค่าที่ตราไว้ของพันธบัตรดังกล่าว (เรียกว่า Face Value หรือ Par Value)
ตามปกติ Bond Yield จะมีทิศทางราคาที่สวนทางกับราคาพันธบัตร ยิ่งราคาพันธบัตร (ในตลาดรอง) เพิ่มสูงขึ้นก็จะยิ่งทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือ Bond Yield ลดลง และในทางกลับกันถ้าหากราคาพันธบัตรลดลงก็จะยิ่งทำให้ Bond Yield เพิ่มขึ้น
โดย Bond Yield ที่เป็นที่จับตามองและเป็นประเด็นพูดถึงของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งพบเห็นได้บ่อยในข่าวการลงทุนโดยเฉพาะช่วงที่ Bond Yield กลับมาร้อนแรงคือ Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (10-year Treasury Yield)

สามารถติดตาม 10-year Treasury Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้จาก Daily Treasury Yield Curve Rates ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Department of the Treasury) หรือจาก 10-Year Treasury Constant Maturity Rate ของ Stlouisfed
พื้นฐานพันธบัตรรัฐบาลและ Bond Yield
พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล นักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลและจะได้ผลตอบแทนหรือ Yield เป็นดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐฯ ออกพันธบัตรอายุ 10 ปี ครบกำหนดปี 2022 มีราคาที่ตราไว้ (Par Value) $1,000 โดยให้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี (Coupon Rate)
- Face Value หรือ Par Value คือ ตัวเลขหนี้ที่ผู้ออกพันธบัตรต้องคืน เทียบได้กับเงินต้นที่ถูกยืมไป
- Coupon Rate คือ อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่ผู้ออกพันธบัตรจะจ่ายให้ต่อปี
- Coupon Payment คือ ดอกเบี้ยที่ผู้ถือพันธบัตรจะได้รับต่อปี (มาจาก Face Value x Coupon Rate)
ถ้านักลงทุนซื้อพันธบัตรรุ่นนี้และถือไว้ก็จะได้ดอกเบี้ยปีละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2% ต่อปี) ส่วนนี้เองที่เรียกว่า Bond Yield
Bond Yield คำนวณได้จากผลตอบแทนพันธบัตรต่อปี (Coupon Payment) หารด้วยมูลค่าที่ตราไว้ของพันธบัตร (Face Value หรือ Par Value)
Bond Yield = (Coupon Payment / Face Value) x 100
ในกรณีตัวอย่างบางคนอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องคำนวณ Bond Yield ก็ได้ เพราะดูจาก Coupon Rate เอาก็ได้ เพราะสุดท้ายก็มีค่าเท่ากัน
Bond Yield = (20 / 1,000) x 100 = 2%
อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้มีตลาดรองที่นักลงทุนสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือตราสารหนี้ การซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองจะส่งผลให้ราคาพันธบัตรเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามปริมาณความต้องการพันธบัตรรุ่นนั้น ๆ ทำให้นักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ไม่จำเป็นต้องถือตราสารหนี้จนครบอายุ และสามารถซื้อขายพันธบัตรเพื่อทำกำไรจากราคาพันธบัตรได้ เหมือนการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นแล้วทำกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) โดยไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าจะได้เงินปันผลเพื่อที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุน
กลไกของ Bond Yield
จากตัวอย่างเดิม สมมติว่าพันธบัตรรัฐบาลรุ่นดังกล่าวเป็นที่ต้องการ จนทำให้ในราคาซื้อขายพันธบัตรดังกล่าวในตลาดรองเพิ่มขึ้นเป็น $2,000 (การซื้อพันธบัตรในราคาที่สูงกว่า Face Value เรียกว่า Premium) ในขณะที่พันธบัตรดังกล่าวยังคงให้ผลตอบแทน $20 ต่อปีเท่าเดิม (และถ้าถือจนหมดอายุก็ได้เงินเท่ากับ Face Value หรือ $1,000 เท่านั้น)
ในกรณีนี้จะส่งผลให้ Bond Yield หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงเหลือ 1% ต่อปี
Bond Yield = (20 / 2,000) x 100 = 1%
จะเห็นว่าเมื่อราคาซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ Bond Yield จากการลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวลดลงตาม เนื่องจากผลตอบแทนจากพันธบัตรยังคงเท่าเดิมในขณะที่ราคาซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองเพิ่งขึ้น
ในทางกลับกันถ้าหากว่าพันธบัตรรุ่นนี้กลายเป็นที่ไม่ต้องการของนักลงทุน จนราคาซื้อขายในตลาดพันธบัตรลดลงเหลือ $800 ก็จะทำให้นักลงทุนซื้อพันธบัตรได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคา Face Value (เรียกว่า Discount) ก็จะทำให้ Bond Yield เพิ่มสูงขึ้นจากการที่จ่ายเงินน้อยลงแต่ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม
ในกรณีนี้จะส่งผลให้ Bond Yield หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ต่อปี
Bond Yield = (20 / 800) x 100 = 2.5%
สำหรับการคำนวณ Bond Yield ในกรณีนี้จะเรียกว่า Current Yield ที่เป็นการคิด Yield ในปัจจุบัน ตามมูลค่าที่เปลี่ยนไปตามราคาซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง และในบทความนี้ไม่ได้คำนวณ Bond Yield บนพื้นฐานของมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) เพื่อความง่ายในการความเข้าใจ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อ Bond Yield
ปัจจัยที่ทำให้ Bond Yield เปลี่ยนไปคือปริมาณความต้องการซื้อขายพันธบัตรรุ่นนั้น ๆ ในตลาดรอง ถ้าหากนักลงทุนเทขายพันธบัตรออกมาก็จะทำให้ Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นดังกล่าวสูงขึ้น ในทางกลับกันการที่พันธบัตรรุ่นนั้น ๆ เป็นที่ต้องการจนนักลงทุนแห่ซื้อก็จะทำให้ Bond Yield ลดลง
สาเหตุที่ทำให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลจนทำให้ Bond Yield เพิ่มสูงขึ้น คือ การที่มองว่าพันธบัตรรัฐบาลไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนอีกต่อไปในขณะนั้น โดยทั่วไปมาจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากผลของการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ ผ่านมาตรการ QE (Quantitative Easing) เมื่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น Real Yield (อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง) ซึ่งเป็นผลตอบแทนหลังหักเงินเฟ้อก็จะลดลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนเลือกที่จะเทขายพันธบัตรรัฐบาลรุ่นปัจจุบันและหันไปลงทุนสินทรัพย์อื่น (หรือถือเงินสดรอในระยะสั้น)
อีกกรณีหนึ่งคือการที่ธนาคารกลางอย่าง Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะทำให้พันธบัตรรุ่นใหม่ที่ออกมาให้ดอกเบี้ยที่มากขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น นักลงทุนจึงเลือกที่จะเทขายพันธบัตรเก่าออกไปเพื่อรอซื้อพันธบัตรรุ่นใหม่ที่ให้ผลตอบแทน (Bond Yield) ที่มากขึ้น หรือนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น
ข้อมูลอ้างอิงจาก Investopedia