Bond Yield กับตลาดหุ้น ตามปกติจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม เนื่องจากพื้นฐานของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือ Bond Yield ขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ซึ่งเป็นตัวเลขเงินเฟ้อในอนาคต และบนพื้นฐานของระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ปัจจัยที่ทำให้ Bond Yield ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นคือมุมมองต่อเงินเฟ้อในอนาคตหรือเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ที่มองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะการที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยลบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น จากทั้งแนวโน้มของดอกเบี้ยนโยบายที่อาจเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจ และจากการที่เงินเฟ้อทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตจากสินค้า Commodities อย่างเช่น เหล็ก น้ำมัน และโลหะต่าง ๆ
นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มลดลง เมื่อ Real Yield ของพันธบัตรรัฐบาลลดลงก็จะทำให้ความน่าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลดลง ส่งผลให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่างหุ้นในตลาดหุ้น เพื่อรักษาผลตอบแทนให้ได้เท่าเดิม
ดังนั้น ความสัมพันธ์ของ Bond Yield กับตลาดหุ้น จึงเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อ Bond Yield เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้แนวโน้มของราคาหุ้นลดลง ในทางกลับกันเมื่อ Bond Yield ปรับตัวลดลงก็จะทำให้แนวโน้มราคาหุ้นเพิ่มขึ้น จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนจากพันธบัตร (ที่ให้ผลตอบแทนลดลง) ไปยังสินทรัพย์เสี่ยง

สำหรับใครที่ต้องการอ่านทำความเข้าใจกับ Bond Yield แบบละเอียดเกี่ยวกับกลไกการทำงานของ Bond Yield สามารถอ่านเพื่อทำความเข้าใจได้ที่บทความ Bond Yield คืออะไร? อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มีกลไกอย่างไร
ทำไมเทียบ Bond Yield กับตลาดหุ้น
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าทำไมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือ Bond Yield กับตลาดหุ้น ในบทความนี้ถึงดูให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับหุ้น ทั้งที่หลายครั้งเราได้ยินว่าหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 10% ต่อปี คำตอบคือผลตอบแทนของพันธบัตรหรือ Bond Yield ในที่นี้จะถูกนำไปเทียบกับเงินปันผล (Dividend) ของหุ้น โดยพิจารณาจาก Earning Yield ไม่ได้เทียบกับผลตอบแทนจากกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
เพราะการเลือกลงทุนในพันธบัตรโดยพื้นฐานแล้วเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งพันธบัตรเองก็จะให้ผลตอบแทนกับนักลงทุนอย่างน้อยปีละครั้งจนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอน ด้วยเหตุนี้เอง Bond Yield จึงถูกนำไปเทียบกับ Earning Yield จากเงินปันผลของหุ้น
Discount Cash Flow
ในอีกมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับ Bond Yield กับตลาดหุ้น คือมุมมองของนักลงทุนที่คำนวณ Discount Cash Flow เนื่องจากการที่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ Discount Rate (อัตราคิดลด) เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลข Discount Cash Flow ที่คำนวณได้มีค่าน้อยลงตามตัวหารที่เพิ่มขึ้น (Discount Rate เป็นตัวหาร)
เมื่อค่าที่ได้ออกมาน้อยลงนักลงทุนก็จะมองว่าหุ้นบางหุ้นไม่อยู่ในจุดที่ราคาเหมาะสมอีกต่อไป จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ Bond Yield เพิ่มสูงขึ้น เป็นหนึ่งในสัญญาณที่นักลงทุนอาจจะเทขายหุ้นออกมา
ข้อมูลอ้างอิงจาก The Balance, GreedisGoods, และ Investopedia