มูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money)

บทความโดย

ใน

เผยแพร่เมื่อ

แก้ไขล่าสุด

มูลค่าเงินตามเวลา คือ Time Value of Money คำนวณ Future Value คือ FV Present Value คือ PV

ทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดการเลือกสิ่งหนึ่งย่อมทำให้ต้องสละสิ่งอื่น ซึ่งเงินเองก็มีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นเมื่อนำเงินไปทำสิ่งหนึ่งและเสียโอกาสในการนำเงินไปทำสิ่งอื่น ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับแนวคิด มูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) ที่เป็นแนวคิดพื้นฐานเปรียบเทียบมูลค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับวิธีคำนวณมูลค่าของเงินตามเวลาทั้ง มูลค่าอนาคต (Future Value : FV) และ มูลค่าปัจจุบัน (Present Value : PV)

มูลค่าเงินตามเวลา คืออะไร?

มูลค่าเงินตามเวลา คือ แนวคิดที่อธิบายการที่มูลค่าของเงินจำนวนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาเนื่องจากเงินสามารถเติบโตได้ด้วยการนำเงินไปใช้ลงทุน ทำให้เงินในปัจจุบันมีค่ามากกว่าเงินในอนาคตจากศักยภาพในการสร้างรายได้จากเงินจำนวนดังกล่าวระหว่างเวลาที่ผ่านไป

แนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money : TVM) เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการนำมาอธิบายถึง “การได้รับเงินจำนวนหนึ่งทันที เป็นผลดีกว่าการรับเงินจำนวนดังกล่าวในอนาคต” เพราะการที่คุณได้รับเงินเร็วกว่าจะทำให้คุณมีโอกาสนำเงินจำนวนดังกล่าวไปสร้างผลตอบแทน หรือในแง่หนึ่งมูลค่าเงินตามเวลาก็คือเรื่องของต้นทุนค่าเสียโอกาสนั่นเอง

การคำนวณมูลค่าเงินตามเวลาจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบทางเลือกในการลงทุนที่สมเหตุสมผลในแต่ละเงื่อนไขการลงทุน หรือแม้แต่กระทั่งค่าเสียโอกาสของการไม่นำเงินไปลงทุน

การคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา

เราบอกว่ามูลค่าเงินตามเวลาคือสิ่งที่ใช้ในการอธิบายถึง การได้รับเงินจำนวนหนึ่งทันที เป็นผลดีกว่าการรับเงินจำนวนดังกล่าวในอนาคต เพราะระหว่างนั้นเราสามารถนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยได้ การคำนวณมูลค่าเงินตามเวลาจึงเป็นสิ่งที่บอกว่า ถ้าหากเรานำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ลงทุนด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันจะสร้างผลตอบแทนได้เท่าไหร่บ้างจากดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest)

ในการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา จะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • มูลค่าอนาคต (Future Value หรือ FV) ในการหาผลรวมของเงินในอนาคตหลังจากการลงทุน
  • มูลค่าปัจจุบัน (Present Value หรือ PV) ในการหาเงินต้นที่ต้องใช้เมื่อต้องการผลตอบแทนที่ต้องการภายในระยะเวลาที่กำหนด

โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลาจะเกี่ยวข้องกับ 4 ปัจจัยที่เป็นตัวแปรในสมการมูลค่าเงินตามเวลา ได้แก่ มูลค่าของเงินในอนาคต (Future Value : FV), มูลค่าของเงินในปัจจุบัน (Present Value : PV), ดอกเบี้ยต่อการจ่ายดอกเบี้ยหนึ่งครั้ง (Interest : i), และระยะเวลาลงทุน (Time)

Future Value (FV)

Future Value (FV) คือ การคำนวณหามูลค่าเงินในอนาคต เพื่อหาว่าเมื่อนำเงินจำนวนหนึ่งไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนดจะทำให้เงินจำนวนดังกล่าวงอกเงยขึ้นเป็นเท่าไหร่ ที่รู้จักกันในชื่อ ดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest)

ในการคำนวณ Future Value สามารถคำนวณได้โดยแทนค่าลงในสมการ:

FV = PV x (1+i)n

หรือ

มูลค่าอนาคต = มูลค่าปัจจุบัน x (1 + อัตราผลตอบแทน)เวลา

ตัวอย่างเช่น นำเงิน 100,000 บาทไปใช้ลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี เมื่อแทนค่าลงในสมการจะได้

FV = 100000 x (1+0.08)^10 = 215892.50

หมายความว่า เงินต้น 1 แสนบาท เมื่อนำไปลงทุนด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น 215,892.5 บาท ณ สิ้นปีที่ 10

Present Value (PV)

Present Value (PV) คือ การคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของเงินที่ต้องใช้เพื่อการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ต้องการภายใต้ระยะเวลาและอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด

ในการคำนวณ Present Value สามารถคำนวณได้โดยแทนค่าลงในสมการ:

PV = FV ÷ (1+i)n

หรือ

มูลค่าปัจจุบัน = มูลค่าอนาคต ÷ (1 + อัตราผลตอบแทน)เวลา

ตัวอย่างเช่น ต้องการให้เงินลงทุนงอกเงยเป็น 200,000 บาทในปีที่ 10 โดยใช้การลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี เมื่อแทนค่าลงในสมการจะได้

PV = 200000 ÷ (1+0.08)^10 = 92,638.7

หมายความว่า จะต้องใช้เงินต้น 92,638.7 บาท ถ้าหากต้องการลงทุนในระยะเวลา 10 ปีด้วยผลตอบแทน 8% ต่อปี เพื่อให้เงินลงทุนกลายเป็น 2 แสนบาทในสิ้นปีที่ 10

จะเห็นว่าสมการสำหรับการคำนวณหามูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ก็คือสมการเดียวกันกับการหามูลค่าอนาคต (Future Value) ที่เป็นสมการกลับด้านกัน

มูลค่าของเงินตามเวลาที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ในการคำนวณมูลค่าของเงินที่ลดลงจากผลของเงินเฟ้อยังสามารถประยุกต์ใช้สูตร Future Value ในการคำนวณเพื่อหาว่ามูลค่าของเงินจำนวนหนึ่งหลังหักเงินเฟ้อออกไปแล้วตามอัตราเงินเฟ้อจะเหลือมูลค่าที่แท้จริงเท่าไหร่ ด้วยการคิดลดอัตราดอกเบี้ยทบต้น

ในการคำนวณมูลค่าที่แท้จริงของเงินหลักหักอัตราเงินเฟ้อในช่วงระยะเวลาหนึ่งสามารถคำนวณได้โดยแทนค่าลงในสมการ:

FV = PV x (1-i)n

หรือ

มูลค่าปัจจุบัน = มูลค่าอนาคต ÷ (1 – อัตราผลตอบแทน)เวลา

จะเห็นว่าเปลี่ยนจากเป็นการเปลี่ยนจาก 1+i ในสมการเป็น 1-i

ตัวอย่างเช่น นาย A มีเงิน 1 ล้านบาทแต่ทิ้งเงินดังกล่าวเอาไว้โดยไม่ลงทุนเป็นเวลา 10 ปี โดยที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยที่นาย A อาศัยอยู่คือ 2% ต่อปี จะสามารถแทนค่าลงในสมการได้ดังนี้

FV = 1000000 x (1-0.02)^10 = 817,072.81

หมายความว่า การเงินของนาย A ที่ถูกทิ้งเอาไว้เฉย ๆ โดยไม่นำไปลงทุนใด ๆ จะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อและมีมูลค่าที่แท้จริงเหลือเพียง 817,072.81 บาท ณ วันสิ้นปีที่ 10 และนั่นทำให้เงิน 1 ล้านบาทดังกล่าวซื้อสินค้าได้น้อยลงถึงเกือบ 1 ใน 5 ในอนาคต 10 ปีให้หลัง

แก้ไขล่าสุดเมื่อ:


หากเป็นประโยชน์ติดตามเราได้ที่:

แชร์บทความนี้: